การตีความตามหลักเทศนาหาระเรื่อง “ปัญญาในพุทธปรัชญา”

ปัญญาในพุทธปรัชญา

       ปัญญา มีรากศัพท์มาจาก ป+ญา ซ้อน ญฺ = ปญฺญ  “ป”(ปะ) มีความหมายว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน,ออก “ญา” (ธาตุ=รากศัพท์) แปลว่า รู้ ภาษาไทยเขียนว่า “ปัญญา” อ่านเหมือนบาลี
        “ปัญญา” จึงมีความหมายว่า รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง, รู้ล่วงหน้า (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้ จะต้องทำเหตุอย่างไร), รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด, รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจาก ปัญหาพ้นจากทุกข์ได้[1]
        พระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายความหมายของปัญญาไว้ว่า
        ก) มีการแทงตลอดสภาวธรรมเป็นลักษณะ คือ มีหน้าที่กำจัดความมืดคือ โมหะ ที่ปกปิด สภาวะความเป็นจริงของธรรมทั้งหลาย ทำให้ไม่หลง ส่วนสมาธินั้นอยู่ใกล้ปัญญา เพราะผู้มีจิตตั้งมั่น ยอมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง
        ข)  ความรู้ชัด คือ รู้โดยประการต่างๆ ยิ่งกว่า การรู้ด้วยปัญญาและวิญญาณ เรียกว่า ปัญญา ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดและเข้าถึงมรรคด้วย[2]
        สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายของปัญญาไว้ว่า
        ปัญญาแปลว่า ความรู้ทั่ว ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล ความรู้เข้าใจชัดเจน ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ ในเหตุผลดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนิน การทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา ความรอบรู้ ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง[3]และได้แบ่งประเภท ปัญญาไว้ ๓ ประเภทคือ[4]
        ๑. สุตมยปัญญา  ปัญญาเกิดจากสุตะ ได้แก่ปัญญาที่คนทั่วไปจะพัฒนาขึ้นได้ โดยต้องอาศัย สุตะคือ เมื่อยังคิดเองไม่เป็น หรือคิดไปไม่ถึงมองอะไรๆ ไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็ต้องมีผู้แนะนำสั่งสอน บอกให้เช่น มีท่านที่เรียกว่ากัลยาณมิตร อย่างพระพุทธเจ้าท่านผู้รู้ ครูอาจารย์มาแนะนำชี้แจงอธิบาย จึงรู้เข้าใจหยั่งความจริงได้ในระดับหนึ่ง
        ๒. จินตมยปัญญา  ปัญญาเกิดจากจินตะ ได้แก่การรู้จักคิด คือ เมื่อได้ความรู้เข้าใจในสุตะ เกิดมีสุตมยปัญญาจาก การเล่าเรียนสดับฟังแล้ว ก็ฝึกโยนิโสมนสิการให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างไกล ลึก รอบทั่วตลอดแยกโยงได้ ทำให้ก้าวต่ไปในการเข้าถึงความจริง และใช้ความรู้อย่างได้ผล
        ๓. ภาวนามยปัญญา  ปัญญาเกิดจากการภาวนา คือการปฏิบัติบำเพ็ญ ทำให้เป็นให้มีขึ้น ได้จริง โดยลงมือทำกับประสบการณ์ตรง หมายถึงปัญญาที่พัฒนาต่อจากสุตมยปัญญา และจินตามย ปัญญา สองอย่างแรกนั้น คืออาศัยปัญญาสองอย่างแรกนั้น พัฒนาต่อไปด้วยการมนสิการ ตัวสภาวะ จนเกิดปัญญารู้จริงที่เป็นมรรคให้บรรลุผล[5]
       

อธิบายขยายความ ปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท
ตามหลักการตีความแบบ เทศนาหาระทั้ง ๖ ประการ
       
๑. อัสสาทะ   หมายถึง ความยินดี ข้อดี ด้านดี สิ่งที่น่ายินดี
ปัญญานั้นมีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดดังที่เรียกใน วิสุทธิมรรคว่า “สชาติปัญญา ปัญญาที่มีติดมา พร้อมกับความเกิด”ปัญญานี้จะงอกงามเติบโตขึ้นด้วยการศึกษา คือการสดับตรับว่าอะไรดีไม่ดีเป็นต้น จากพ่อแม่ ครูอาจารย์ และความคิดตรึกตรองหาเหตุผลในสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ กับความลงมือปฏิบัติ ปัญญาที่งอกงามเติบโตขึ้นด้วยการศึกษาดังกล่าว ท่านแยกเรียกว่าเป็น “โยคปัญญา ปัญญา  ที่เกิดเพราะความประกอบ” ดังพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ภูริ คือปัญญาเกิดเพราะความประกอบ” เมื่อหมายถึง ปัญญานี้จึงกล่าวว่า เกิดปัญญาเป็นต้น ความจริงก็เป็นปัญญาที่งอดงามเติบโตเจริญขึ้น[6]
        การที่โลกของเราเจริญได้เนื่องมาจากปัญญา หรือความฉลาดรอบรู้ของคนเราที่ช่วยกันสร้าง สรรค์สิ่งต่าง ๆ ใช้ปัญญา คิดสร้างสรรค์ ความเจริญทางด้านวัตถุหรือเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งหาก จะดำรงชีวิตในโลกนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัยต้องเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดมีสติปัญญาเป็นเครื่องรักษา ตน ผู้ฉลาดมากจะได้เปรียบผู้ที่ฉลาดน้อย มีธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย มโหสถชาดกว่า
        " แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นมีกำลังมากตลอดกาล ทะเลใหญ่นั้นแม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไปได้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้ คนไม่ฉลาดย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ในกาลไหนๆ ฉันนั้น "[7] จะเห็นว่านักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อนท่าน สรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ โบราณจึงกล่าวว่า มีปัญญาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน และมีธรรมภาษิตที่กล่าวถึงคุณของปัญญาดังความดังต่อไปนี้

๑.ปญฺญา นรานํ รตนํ
ปัญญาเป็นรัตนะของบุคคล[8]
        รัตนะ[9] คือ สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสิรฐ เช่น รัตนตรัยที่แปลว่าแก้ว ๓ ประการย่อมหมายถึง  สิ่ง ประเสริฐ ๓ ประการคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุคคลผู้มีปัญญาก็เท่ากับมีสิ่งประเสริฐอยู่ในตน
เหมือนมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่กับตัว ใช้ไม่หมด ยิ่งใช้ ยิ่งมาก ปัญหาต่างๆ ที่แก้ไม่ได้ด้วยวิธีอื่นย่อม สามารถแก้ได้ด้วยปัญญา ปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก

๒.นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี[10]
        แสงสว่างจากไฟก็ดี จากดวงอาทิตย์ก็ดี นับว่ามีประโยชน์มากอยู่ แต่ไม่อาจส่องใจของคนให้ สว่างได้ ส่วนแสงสว่างคือ ปัญญา ย่อมสามารถส่องใจคนให้สว่างไสวด้วยเหตุผลรู้ดี รู้ชั่ว กำจัดความ มืด คือ กิเลสต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้คนผู้มีปัญญาย่อมสามารถนำไฟต่าง ๆ มาทำประโยชน์เช่น ไฟฟ้า หรือพลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นต้น เพราะฉะนั้นแสงสว่างคือ ปัญญา จึงเลิศกว่าแสงสว่างอื่นๆ

๓. ปญฺญ่ เจนํ ปสาสติ
ปัญญาย่อมคุ้มครองรักษาคนไว้[11]
        บุคคลผู้โง่เขลา ย่อมเป็นการยากที่จะรักษาตัวให้พ้นจากความชั่วและความทุกข์ได้ ส่วนผู้มี ปัญญาย่อมสามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ นำตนให้ประสบสุขสวัสดี เพราะอาศัย ปัญญาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตและอาศัยปัญญาเว้นสิ่งควรเว้นทำสิ่งที่ควรทำ จึงสามารถคุ้มครองตน ให้ปลอดภัยในด้านต่างๆ แม้สิ่งอื่นจะคุ้มครองรักษาก็สู้ปัญญาคุ้มครองไม่ได้ ผู้มีปัญญานอกจากจะ คุ้มครองรักษาตนได้แล้วยังสามารถคุ้มครองรักษาผู้อื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

                                ๔. ปญฺญาชีวี ชีวิตมาหุ เสฏฐํ
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงผู้มีชีวิตอยู่ ด้วยปัญญาว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ[12]

        ที่นักปราชญ์กล่าวยกย่องผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐก็เพราะผู้เช่นนั้นย่อมไม่เดือดร้อนด้วยเรื่องที่คนทั้งหลายเดือดร้อนกันอยู่ ดังที่ท่านกล่าวว่าปญฺญาสหิโต นโร อิธ อปิ ทุกฺเขสุ สุขานิ วินฺทติ นรชน ผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ย่อมหาความสุขได้แม้ในเรื่องที่น่าจะทุกข์ นอกจากนี้ บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา(ปญฺญายปริสุชฺฌติ) เพราะฉะนั้น ชีวิตของผู้มีปัญญาจึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐ

       จากพุทธสุภาษิตข้างต้น สรุปได้ว่า ปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก ปัญญาเปรียบเหมือน แสงสว่างที่ส่องใจให้สว่างสไหว ปัญญาเปรียบเหมือนเกราะป้องกันคุ้มครองตนและผู้อื่นได้ ปัญญาเป็น สิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิตมนุษย์ ผู้มีปัญญาย่อมขวนขวายหาทรัพย์สมบัติได้ หรือหากแม้ตกอยู่ในภาวะวิกฤติก็สามารถพลิกผันชีวิต ให้ประสบความสำเร็จได้ทุกเมื่อ ผู้มีปัญญามักมองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา จากพุทธภาษิตพระพุทธองค์ทรงสอนว่า ถ้าอยากมีรัตนะติดตัว ก็ให้ขวนขวายศึกษาหาความรู้ให้มากๆ เพราะความรู้ คือ คลังสมบัติที่จะนำออกมาใช้เมื่อไรก็ได้ และจะใช้อย่างไรก็ไม่หมด ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เหมือนมีดยิ่งลับยิ่งคม ปัญญาจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลก เพื่อเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวให้มีความสุขสบาย ส่วนการแสวงหาความรู้ทางธรรมควร หาโอกาสฟังธรรมตามกาล เพราะจะทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือที่รู้แล้วก็จะได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปคลายความสงสัยที่ค้างใจมานานเป็นการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยเฉพาะคำสอนของพระพุทธองค์

๒. อาทีนวะ หมายถึง โทษ ข้อเสีย ด้านเสีย สิ่งที่ไม่น่ายินดี     
แม้การมีปัญญา อันหมายถึง มีความรู้ ความฉลาด และเป็นอุปกรณ์สำคัญในการคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ ผู้มีปัญญามาก ผู้มีปัญญามากควรปฏิบัติเพื่อความเจริญและเพื่อประโยชน์ดังที่พระพุทธองค์ตรัสในโยธาชีววรรคที่ ๔ อังคุตตรนิกาย จตุกกบาตร ว่า
 “ ดูกรภิกษุบุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนย่อม ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อคิดย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อ กูลแก่ผู้อื่นเกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่นและเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูกรภิกษุบุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญา มากอย่างนี้แลฯ[13]
ผู้มีปัญญามากหากไม่มีศีลเป็นตัวคุมเป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เกิดความเสื่อมอยู่เสมอ ทำให้โลกวุ่นวาย เช่น คิดค้นสูตรยาบ้า คิดค้นอาวุธเพื่อการทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันทำให้สังคมมีปัญหา นอกจากนี้ผู็มีปัญญามากหรือปัญญาล้ำ แสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม อหังการในความรู้ความฉลาดของตนเหนือกว่าผู้อื่น จนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นดังข้อความจากพระอริยสงฆ์กล่าวไว้ว่า 

ปัญญา มีมากเกินไป ขาดศรัทธา กลายเป็น “ทิฏฐิมานะ”[14]

        ทิฏฐิและมานะ ทิฏฐิหรืออหังการ คือ ความเห็นดื้อดึง ถึงผิดก็ไม่ยอมแก้ไข และมานะ คือความถือตัว เมื่อรวมกันแล้วหมายถึง ถือรั้นอวดดีหรือดึงดื้อถือตัว[15]  ปัญญาที่ขาดศรัทธา  ความเห็นความยึดถือที่แตกต่างกัน เขาย่อมจะก่อความทะเลาะวิวาท ซึ่งกันและกันในที่สุดก็แตกเป็นหมู่คณะแบ่งเป็นเหล่าไม่สามัคคีอันเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ทิฏฐิมานะ ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน กลายเป็นปัญญาที่มีอัตตาพอกพูน ทำให้ดำเนินชีวิตประจำวันไม่ได้ ตลอดถึงไม่สามารถปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์ดังความใน กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท ว่า
“ก็สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าเที่ยง พวกหนึ่ง (มีความถือตัวว่า) เป็นบัณฑิตในโลกนี้ย่อมกล่าว อรูปสมาบัตินี้ว่า เป็นความบริสุทธิ์ของสัตว์แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าขาดสูญพวกหนึ่งเป็นผู้มีวาทะว่าตนเป็นคนฉลาดในอนุปาทิเสสนิพพาน ย่อมโต้เถียงสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่าเที่ยงเหล่านั้นแหละ ส่วนท่านผู้เป็นมุนี  รู้บุคคลเจ้าทิฐิเหล่านั้นว่า  เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฐิ  ท่านผู้เป็นมุนี นั้นเป็นนักปราชญ์ พิจารณารู้ผู้อาศัยทิฐิทั้งหลายแล้ว รู้ธรรมโดยลักษณะมีความไม่เที่ยง และเป็นทุกข์เป็นต้น หลุดพ้นแล้ว  ย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับใคร  ย่อมไม่มาเพื่อความเกิดบ่อยๆ”[16] และในจูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒ กล่าวถึงผู้มากปัญญาคือสมณพราหมณ์ ผู้ถือทิฐิของตนก่อให้เกิดการโต้เถียง ทะเลาะวิวาทกัน ดังความว่า
        “สมณพราหมณ์ทั้งหลาย  ยึดมั่นอยู่ในทิฐิของตน ๆ ถือมั่นทิฐิแล้ว  ปฏิญาณว่า  พวกเราเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าวต่างๆ กันว่าผู้ใดรู้อย่างนี้   ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรมคือทิฐิ  ผู้นั้นคัดค้านธรรมคือทิฐินี้อยู่ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม สมณพราหมณ์ทั้งหลายถือมั่นทิฐิแม้ด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมโต้เถียงกัน และกล่าวว่า ผู้อื่นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด วาทะของสมณพราหมณ์สองพวกนี้วาทะไหนเป็นวาทะจริงหนอ เพราะว่าสมณพราหมณ์ทั้งหมดนี้ ต่างก็กล่าวกันว่าเป็นคนฉลาดฯ”[17]
ปัญญาที่เพิ่มทุกข์เพิ่มโทษให้กับตน ทุกครั้งที่ดู-ที่ฟัง-ที่อ่าน เพราะเขาแสดงแต่สิ่งที่ไร้สาระ ให้ยาพิษแก่ผู้ดู-ผู้ฟัง-ผู้อ่านตลอดเวลา เนื่องจากเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นตรงข้ามกับที่พระพุทธ- เจ้าสอนไว้ และยังค้านคำสอนของพระองค์ด้วย โดยใช้คำพูดที่เต็มไปด้วยโวหาร ใช้สำนวน-ใช้คารม-ฝีปากกล้า-ขาดความละอาย น้อมใจให้ผู้ดู-ผู้ฟัง-ผู้อ่านคล้อยตามเขา เพราะเขารู้ดีว่าในโลกนี้ มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด ต้นเหตุก็เพราะเขาคิดผิด หลงผิด หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงยังผลให้ความชั่ว ความหลงผิดอีก ๗ อย่าง เกิดขึ้นกับใจของเขาคือ มีความดำริไปในทางที่ผิด มีวาจาที่ผิด มีการงานหรือแนะนำให้ผู้อื่นกระทำในทางที่ผิด หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ทำความเพียรไปในทางที่ผิด มีสติระลึกแต่สิ่งที่ผิดและจิตเขาก็ตั้งมั่น-ยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่ผิด เพราะหลงผิดตั้งแต่ต้นว่าเขาทำถูก
        สรุปความว่า การกล่าวยกตนข่มผู้อื่นของสมณพราหมณ์ผู้มีปัญญมากหรือล้ำที่กล่าวว่า ธรรมของตนเป็นธรรม ที่บริบูรณ์แต่กล่าวตำหนิธรรมของคนอื่นว่าเลวบกพร่องเป็นเหตุให้เกิดความทะเลาะ วิวาทกัน ต่างฝ่ายก็กล่าวข้อสมมติของตนว่าเป็นจริงจึงไม่สามารถบรรลุสัจธรรมได้

๓.นิสสรณะ  หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องนำออกจากวัฏฏทุกข์หรือธรรมที่หลุดออกจากอาทีนวะรวมถึงอัสสาทะ
        ปัญญาที่ถูกต้องตามหลักพุทธปรัชญาคือ ปัญญาที่มีองค์ประกอบในการพิจารณา ๒ ประการ คือ ปรโตโฆษะและโยนิโสมนสิการ   ทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญา หรือเกิดความเห็นชอบมีพระพุทธพจน์ปรากฏว่า“ภิกษุทั้งหลายปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการคือ ปรโตโฆษะและโยนิโสมนสิการ[18]
        ปรโตโฆสะ หรือ เสียงจากผู้อื่น ที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ก็คือ เสียงที่ดีงาม เสียงที่ถูกต้อง เสียงที่บอกกล่าวชี้แจงความจริง มีเหตุผล เป็นประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากความปรารถนาดีและเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดปัญญา ได้แก่ การสั่งสอนแนะนำ การบอกเล่า การเรียนรู้จากตำรับ ตำรา ข่าวสาร การรับฟังคำสอจจากคนอื่น ปรโตโฆสะนี้ท่านเรียกว่า เป็นวิธีการแห่งศรัทธา[19]
        โยนิโสมนสิการคือ การทำไว้ในใจโดยแยบคายได้แก่ การใช้ความคิดที่ถูกวิธีความรู้จักคิดมอง พิจารณาสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และวิธีหาเหตุผล ถือว่าเป็นปัจจัยภายในที่จะทำให้เกิดความรู้ วิธี การคิดแบบโยนิโสมนสิการนี้ท่านเรียกว่า วิธีการแห่งปัญญา[20]
        ปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการนี้จะเป็นปัจจัยแห่งความรู้แจ้งต้องเน้นเฉพาะในด้านที่ดีเท่านั้น แนวทางที่จะพัฒนาปัญญาอย่างสมบูรณ์ดังกล่าว ต้องอาศัยแนวทางที่เรียกว่า “ มหาสติปัฏฐาน ๔ ” ประการ คำว่า “มหาสติปัฏฐาน” หมายถึง การตั้งสติอย่างใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมหาสติ-  ปัฏฐานแก่พระภิกษุและชาวแคว้นกุรุรัฐขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ นิคมชื่อกัมมาสทัมมะ มีใจความ สำคัญว่า
        “ภิกษุทั้งหลายทางสายเอกสายเดียวนี้คือเอกายโน มคฺโค(เอกายนมัคค์) เป็นทางที่ทำให้สัตว์ บริสุทธิ์พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจ เพื่อให้เข้าถึงธรรฒที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยการตั้งสติ ๔ อย่าง”[21]
        นอกจากการพิจารณาด้วยองค์ประกอบ ๒ อย่างคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการและหลัก มหาสติปัฏฐาน ๔ แล้วเกณฑ์ในการตัดสินว่าปัญญานั้นไม่เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นนั้น โดยใช้เกณฑ์
คือปัญญานั้นก่อให้กุศลธรรมเจริญหรือกุศลธรรมเสื่อม ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้ ในกาลามสูตรว่า

กุศลธรรมเจริญ
        “เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษธรรม เหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ดูกรกาลามชนทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจะสำคัญความ ข้อนั้น เป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ  ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่ เป็นประโยชน์ ฯ
กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตไม่ถูกความ โลภกลุ้ม รุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ  สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนานบุคคลผู้ไม่โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ”[22]

กุศลธรรมเสื่อม
        “ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ ติ เตียนธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้ง หลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือ เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พวกชน กาลาม โคตรต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลายก็บุคคล ผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่น    เพื่ความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฯ[23]
        จากพระสูตรสามารถสรุปเกณฑ์ในการชี้วัดได้ดังนี้ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศลเป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น กล่าวคือ กุศลธรรม ที่ทำให้ปัญญาเจริญนั้นควรปฏิบัติ และ กุศลธรรมที่ทำให้ปัญญาเสื่อมนั้นควรละ
        ฉะนั้นปัญญาจึงเป็นเครื่องวินิจฉัยได้ว่าอะไรเป็นทางเจริญอะไรเป็นทางเสื่อม อะไรที่เป็น วิธีดำเนินตนไปสู่ทางเจริญหรืออะไรจริง อะไรไม่จริง คือการพิจารณาที่ประกอบด้วยปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ และหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ และเป็นปัญญานั้นก่อให้เกิดกุศลธรรมที่ทำให้กุศลเจริญ จึงเป็นปัญญาที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการออกจากทุกข์ได้ถึงขั้นอรหัตผล  

๔. ผละ  หมายถึง ผลลัพธ์ อานิสงส์ ประโยชน์ที่ได้จากการพิจารณาหรือจากการปฏิบัติตามทั้งประโยชน์ที่ได้รับในปัจจุบัน 
        จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า ปัญญาที่ถูกต้องที่ควรเจริญนั้นคือประกอบด้วยหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ และหลักไตรสิกขาที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาหรือมรรคมีองค์ ๘ การเจริญปัญญาตามหลัก ดังกล่าวจะทำให้เกิดฌาน ความสัมพันธ์ระหว่างฌานและปัญญาตามหลักวิชาในคัมภีร์ ขุททกินกาย ปฏิสัมภิทามรรคได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างฌาน(สมถะ)กับปัญญา(วิปัสสนา) พอสรุปได้ดังนี้
        ๑. เจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า คือ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจ แห่งเนกขัมมะเป็นสมาธิชื่อวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณษเห็นธรรมที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น โดยความ ไม่เที่ยงโดยความเป็นทุกข์โดยความเป็นอนัตตา ด้วยประการฉะนี้ สมถะจึงมีก่อนวิปัสสนามีภายหลัง เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า “เจริญวิปัสสนามีสมาถะนำหน้า”[24]
        ๒.  เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า คือ ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็นโดยความ ไม่เที่ยงชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณษเห็นโดยความเป็นทุกข์ ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาสภาวะที่จิตปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวิปัสสนานั้นเป็นอารมณ์ และสภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิวิปัสสนาจึงมีก่อนสมถะมีภายหลังด้วยประการ ฉะนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า”[25]
        ๓. เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป       
        ความสัมพันธ์ระหว่างฌานและปัญญาดังกล่าว สรุปได้ว่า การเจริญสมถะก่อนแล้วเจริญ วิปัสสนาภายหลังวิธีการนี้จะเริ่มต้นด้วยการทำจิตให้สงบแล้วอาศัยความสงบ(ฌาน) นั้นเป็นฐานเจริญ วิปัสสนา(ปัญญา) พิจารณาธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมความสงบนั้น  การเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กัน วิธีการนี้จะเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป แต่มิได้หมายความว่าปฏิบัติพร้อมๆ กันเลยที่เดียวเพราะ ในขณะจิตหนึ่งๆ ไม่สามารถทำกิจสองอย่างพร้อมกันได้ แต่หมายความว่า ผู้ปฏิบัติตามแบบสมถะจน ได้ฌานแล้วออกจากฌานพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น[26]
        ดังนั้นการเจริญปัญญาตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ก่อให้เกิดทั้งฌาน (สมถะ) และปัญญา (วิปัสสนา) ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  อันเป็นเจริญปัญญาที่มีอานิสงส์มากทำให้ผู้ปฏิบัติตาม ได้ บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา   ดังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราทั้งหลายไว้ว่า"ปญฺญา โลกสฺมํ ปชฺโชโต" ความว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในทางโลกแม้ปัญญาในทางโลกมีความสำคัญแต่ปัญญาที่มีความสำคัญยิ่งกว่า คือ ปัญญาในทางธรรม อันเกิดจากการอบรมจิตภาวนา จนเกิดความ สามารถหยั่งรู้สภาพ ความเป็นจริง ของชีวิตเป็นปัญญาที่ทำให้เกิดการดับทุกข์ ทำให้ชีวิตหลุดพ้น จากการเวียนอยู่ในกองทุกข์ประเสริฐ ยิงกว่าประดิษฐกรรมใดๆ ในทางโลกหากจิตไม่สงบพระธรรมก็ไม่เกิดหรือไม่มีทางเห็นธรรม พระองค์จึงอบรมพวกเราให้มีสติ เพราะหากขาดสติ จิตใจก็ไม่สงบ สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่มี
          ดังนั้น สติ สมาธิ ปัญญา จึงแยกจากกันไม่ได้ ขาดตัวต้น ๒ ตัวท้ายก็ไม่มี คำสอนของพระองค์ทั้งหมดจึงเป็นอุบายให้เรามีสติก่อนทั้งสิ้น และเมื่อรวมคำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ บทแล้ว    พระองค์ก็ทรงย่อเหลือประโยคเดียวคือ “จงอย่าประมาท” หรือ “จงมีสติตลอดเวลานั่นเอง”

๕. อุปายะ   หมายถึง อุบายวิธี แนวปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิสสรณะหรือผล
        วิธีปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดปัญญาตามหลักพุทธปรัชญามีรายละเอียดดังนี้ 
        ๑. ปุพฺพปโยโค  การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนญาณต่างๆ เกิดขึ้นโดยลำดับ จนถึงอนุโลมและโครตรภูญาญ เป็นเหตุให้เกิดปัญญหาขั้นสูง คือ มัคคปัญญา
        ๒. พาหุสจฺจํ  ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก
        ๓. เทสภาสา  ความเป็นผู้ฉลาดในภาษาต่างๆ มีภาษาบาลีเป็นต้น จนกระทั่งภาษาต่าง ประเทศทั่วโลก
        ๔. อาคโม คือ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
        ๕. ปริปุจฺฉา หมั่นไต่ถามครูอาจารย์บ่อยๆ และหมั่นดู หมั่นสอบถาม ค้นคว้าตำราบาลี อรรถกถา ฏีกาบ่อยๆ
        ๖. อธิคโม หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐานบ่อยๆ จนได้บรรลุมรรค ผลเป็นพระอริยบุคคล เบื้องต้น เป็นต้นไป
        ๗.  ครุสนฺนิสฺสยํ อยู่ในสำนักของครูอาจารย์ผู้ฉลาดสามารถ
        ๘.  มิตฺตสมฺปตฺติ ได้มิตรที่ดี ชักชวนกัน แนะนำกันแต่ในการศึกษาเล่าเรียนและการประพฤติ ปฏิบัติ
        ๙. ปเรสํ ธมฺมํ เทเสติ  แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
        ๑๐. อนวชฺชานิ สอนศิลปะ การงาน วิชาชีพที่ปราศจากโทษให้แก่ผู้อื่น
        ๑๑. ธมฺมกถิกํ สกฺการํ ธมฺมํ กถาเปติ นิมนต์พระธรรมถึกมาแสดงธรรมแล้วสักการะบูชาธรรม
        ๑๒. อายตึ ปญฺญวา ภวิสฺสามิ ทำทานกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ปรารถนาให้มีปัญญาเฉลียว ฉลาด
        ๑๓. ได้สั่งสมกรรมที่จะทำให้เกิดปัญญา เช่น ถวายหนังสือ สร้างหนังสือ เป็นต้น
        ๑๔. เกิดในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนกันและกัน
        ๑๕. มีอินทรีย์แก่กล้า คือได้สร้างปัญญาบารมีมามาก
        ๑๖. ห่างไกลจากกิเลส เพราะได้เจริญกรรมฐาน
        ๑๗. ยังอินทรีย์ห้า ให้สม่ำเสมอกัน
        ๑๘. ทำวัตถุภายในและภายนอกให้สะอาด
        ๑๙. เว้นจากบุคคลผู้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อาตยนะ อินทรีย์ อริยสัจ
        ๒๐. คบหาสมาคมแต่บุคคลผู้มีปัญญา รู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ เป็นต้น
        ๒๒. พิจารณาถึงประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ่ง อันเป็นไปในวิปัสสนาภูมิ ๖ มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น อันสุขุมภีรภาพ
        ๒๒. น้อมใจไปในการกำหนดนั้น คือน้อมใจไปตามสติปัฏฐานทั้ง 4
        ๒๓. มีโยนิโสมนสิการคือ การเอาใจใส่ โดยอุบายแยบคาย โดยมีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ อยู่เสมอๆ
        ๒๔. พหุลีกโร พยายามทำให้มากๆ ทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ทั้ง ๒๔ ข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ขั้นต่ำ ( สุตมยปัญญา) ปัญญาขั้นกลาง ( จินตามยปัญญา) และปัญญาขั้นสูง (ภาวนามยปัญญา)[27]

        จากหลักปฏิบัติข้างต้นอาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาหรือการปฏิบัติ ตาหลักมรรคมีองค์ ๘ คือ ๑) สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒) สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ ๓) สัมมา วาจา วาจาชอบ ๔) สัมมากัมมันตะ การปฏิบัติชอบ  ๕) สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพชอบ ๖) สัมมา วายามะ ความเพียรชอบ ๗) สัมมาสติ ความระลึกชอบ ๘) สัมมาสมาธิ  ความตั้งมั่นชอบ
        และเมื่อจำแนกมรรคมีองค์ ๘ ออกเป็นหมวด แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ
        หมวดปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ
        หมวดศีล คือ สัมมาวาจา-การพูดจาชอบ สัมมากัมมันตะ-การทำการงานชอบ และสัมมา อาชีวะ - การเลี้ยงชีวิตชอบ
        หมวดสมาธิ คือ สัมมาวายามะ-ความเพียรชอบ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ-ความตั้งใจมั่นชอบ

        จะเห็นได้ว่าปัญญาเป็นบาทฐานของการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ต้องใช้ปัญญาตั้งแต่เริ่มต้นคือ ใช้ ปัญญาพิจารณาประกอบ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ คือ ปรโตโฆษะและโยนิโส มนสิการทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญาหรือเกิดความเห็นชอบ

๖. อาณัตติ  หมายถึง การสั่ง แนะนำ ชักชวน ชี้นำ เพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวใจให้ยินดีปฏิบัติตาม
        ปัญญานั้นก่อให้เกิดความรู้ทั่วรู้ชัด ได้แก่ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล หรือความรู้ประเภท จำแนก แยกโยงวิจัยจัดแจง สามารถวินิจฉัยได้ว่า จริง เท็จ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล หรือปัจจัยต่างๆ รู้สภาวะความเป็นจริง ของสิ่งต่างๆรู้ว่าจะนำไปใช้หรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้ หรือให้สำเร็จผลที่มุ่งหมายเป็นความรู้ ระดับใช้งาน หรือแก้ปัญญา ดังกล่าวมานี้เป็นการใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์ในโลกนี้ เป็นประโยชน์ ชั้นตาเห็น เป็นปัจจุบัน เนื่องจาก ปัญญามีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นตัวนำทาง และควบคุม พฤติกรรมทั้งหมด ปัญญาเปรียบเสมือนแสงส่องทางในการดำเนินชีวิต ทุกคนจะมีพื้นฐานทาง ปัญญา มาตั้งแต่เกิดเรียกว่าสชาติกปัญญาหรือจะเรียกว่าไอคิว

        ถ้าจะพัฒนาให้มีระดับสูงขึ้น รอบรู้ถึงอุบายวิธี ที่จะละเว้นความชั่ว หันมาประพฤติความดี จนมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ต้องใช้ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่สะอาดบริสุทธิ์สว่างไสว ซึ่งจะบังเกิดขึ้นโดยอัศจรรย์ เปรียบ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ชันเจนเพียงใด ปัญญาทางธรรมก็ทำให้ เราสามารถมองเห็นสัจธรรมแห่งชีวิตได้ชัดเจนเพียงนั้น ดังเช่น ปัญญาเป็นดั่งแก้ว นรชน เพราะนรชน คือคนเรามีรัตนะคือปัญญา ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเป็นพิเศษกว่าสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็น มนุษย์และสามารถอบรมปัญญาให้มากขึ้นได้ด้วย ฉะนั้นคนเราจึงมีความฉลาด สามารถเปลี่ยนภาวะ จากความเป็นคนป่ามาเป็นคนเมืองมีความเจริญด้วยอารยธรรม วัฒนธรรม มีบ้านเมือง มีระเบียบ การปกครอง มีศาสนามีเครื่องบำรุงความสุข ทางกายทางใจต่างๆ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้สัตว์เดรัจฉาน ทั้งปวงหามีไม่ทั้งนี้ด้วยอำนาจของปัญญานี้เอง  พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของปัญญา แต่ปัญญาที่เป็นรัตนะของนรชนดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าจะต้อง เป็นปัญญาที่ชอบมีลักษณะของความฉลาดรู้ ความจัดเจนการวินิจฉัยถูกต้อง สามัญสำนึกดี มีเหตุผล ในสิ่งทั้งหลาย
        ปัญญาที่ชอบดังกล่าว เป็นผลที่สืบมาจากปัญญาที่มีพื้นฐานอันได้มาแต่กำเนิดของนรชน  อัน เรียกว่า สหชาติปัญญา และจากการศึกษาอบรมที่ถูกชอบ อันสหชาติปัญญานั้นมีพลังอำนาจ ที่ทำให้ ประจักษ์เรียนรู้ เข้าใจและตระหนัก เป็นพลังใจทางปัญญาของบุคคล ถ้าอบรมศึกษาในทางที่ผิดก็จะ เพิ่มความรู้ในทางฉลาดแกมโกงในทางทำความชั่วร้าย ในทางเบียดเบียนต่างๆ ฉะนั้นจึงตรัสสอนไม่ให้ ประมาทปัญญา คือใช้ปัญญา พิจารณาอบรมศึกษาให้เข้าถึงความจริง  ตามเหตุและผลในสิ่งทั้งหลาย
เพื่อให้บรรลุถึงความชอบในทุกๆสิ่งรวมเข้ากันใน มรรคมี องค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าๆ ได้ทรงปฏิบัติมา จนได้ ตรัสรู้พระธรรม และทรงสั่งสอนไว้นั้นเองคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความ ดำริชอบ (รวมเข้าเป็นปัญญาสิกขา)สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ(รวมเข้าเป็น จิตตสิกขาหรือสมาธิ)
        มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เท่ากับ ปัญญา ศีล สมาธิ นั่นเองอันแสดงว่าปัญญาเป็นหัวหน้าแต่ที่แสดง ไว้เป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไป เป็นลำดับว่าศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองไว้ด้วยว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นหัวหน้าเพราะว่าเมื่อมี สัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมรู้เห็นทุกๆอย่าง ว่าผิดหรือถูกอย่างไรและเมื่อ มีความเพียรความชอบ ความระลึกชอบเข้าประกอบก็จะทำให้มีความเพียร มีสติละทุกสิ่งที่ผิด ทำทุก สิ่งที่ถูกให้เกิดขึ้นจนถึงเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นหลัก เป็นที่ตั้งแห่งทุกๆ ข้อเพราะจิตที่ไม่มีสมาธิย่อมดิ้นรนกระสับกระส่ายไม่อาจที่จะใช้ปัญญาอบรมปัญญาที่มีอยู่ให้เจริญขึ้นได้เหมือนอย่างไฟฉาย ที่แกว่งไปแกว่งมา ไม่อาจจะส่องอะไรให้มองเห็นชัดเจนได้จึงต้องทำจิตให้สงบ ด้วยสมาธิเป็นหลักก็จะปฏิบัติให้มรรคทุกข้อแวดล้อมเข้ามา 
        การเดินตามทางแห่งมรรคมีองค์ ๘  อันมี ปัญญา ศีล สมาธิ ตามทัศนะพุทธศาสนานั้นยัง ประโยชน์ในโลกหน้า เป็นประโยชน์ที่พึงได้ในภพหน้า พระพุทธศาสนายืนยันความมีอยู่ของภพหน้า ไม่เฉพาะประโยชน์ที่พึงได้ในปัจจุบันที่สนองความต้องการและก่อให้เกิดความสุขในภพที่ดี ที่เรียกว่า “สุคติภพ” [28]
        ฉะนั้นผู้มีปัญญาเมื่อบรรลุประโยชน์ในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงแสวงหาประโยชน์ ในโลก หน้า ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตที่ดีงามขั้นที่สูงขึ้น สำหรับชีวิตที่ดีงามหรือความก้าวหน้าในธรรม ความสำเร็จเด็ดขาดอยู่ที่ปัญญา เพราะปัญญาเป็นฐานรองรับให้ความถูกต้องแก่คุณสมบัติข้อ อื่นๆ ทั้งหมด ปัญญาทำให้เกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลัก ไม่ผิดพลาดกกลายไปเป็นความงมงาม ปัญญาทำประพฤติศีลได้ถูกต้องตามหลักการ ไม่เขวไปเพราะตัณหา เป็นศีลที่อริยชนชื่นชมยอมรับ อย่างที่เรียกว่า อริยกันตศีล ไม่กลายไปเป็นสีลัพพตปรามาส ที่ถืออย่างงมงาย ปัญญาทำให้มีจาคะ ที่เป็นความสละแท้จริงได้ เพราะถ้าไม่มีปัญญาที่เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ยังไม่มองเห็น สภาวะที่แท้และคติธรรมดาของสิ่งต่างๆ และยังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น ปัญญา จึงเป็นแกนและตัวคุมคุณสมบัติอื่นๆ เป็นคุณสมบัติหลักของอริยชนและเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต
ดังข้อความในปุพพโกฏฐกสูตรว่า

“ปัญญาที่พัฒนาแล้วย่อมรู้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ มีจิตใจเป็นอิสระไร้ทุกข์” [29]
        ด้วยการทำที่สุดแห่งทุกข์หรือการไปถึงที่สุดของโลกในอัตภาพอันมีประมาณหนึ่งว่า มีสัญญา และมีใจเท่านั้นการไปถึงที่สุดของโลกไม่สามารถจะสำเร็จด้วยการกระทำทางร่างกาย แต่บรรลุได้ด้วย ปัญญาที่พัฒนาแล้ว “ โลก” ตามที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นหมายถึง “ทุกข์” ผู้ที่สามารถใช้ปัญญาเพื่อไป ให้ถึงที่สุดของโลก ย่อมสามารถถึงความดับแห่งทุกข์ได้ เพราะโลกนี้เป็นโลกแห่งความทุกข์ และที่สุด ของโลกก็คือสุขแห่งนิพพาน

บรรณานุกรม.

กรมศาสนา. พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวง. (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์การศาสนา), ๒๕๒๕.

พระพุทธโฆสเถระ, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ  อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง ( Taiwan : The Coporate Body of the Buddha Educational Foundation), ๒๕๔๘.

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, คู่มือปัญญา ( กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย),๒๕๕๕.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙.

ทองย้อย  แสงสินชัย,บาลีวันละคำ. (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น),๒๕๕๗.

วศิน อินทสระ, ศรัทธากับปัญญาในพระพุทธศาสนา. (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ธรรมดา),๒๕๕๔.

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี).ธรรมเทศนา. วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย.

พิสิฐ  เจริญสุข, คู่มือการอบรมสมาธิ. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา),๒๕๔๒.

วงศ์  ชาญบาลี(ผู้ชำระ),คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค(ไทย), ( กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร), ๒๕๒๕.

มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๓ ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์(สืบค้นจาก http://buddha.dmc.tv/ธรรมะเพื่อประชาชน/mahosod13.html เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐).




[1] ทองย้อย  แสงสินชัย,บาลีวันละคำ. (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น),๒๕๕๗ หน้า ๑๐๐.
[2] พระพุทธโฆสเถระ, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ  อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง ( Taiwan : The Coporate Body of the Buddha Educational Foundation), ๒๕๔๘ หน้า ๗๓๑-๗๓๓.
[3] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า ๒๓๒.
[4] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า๙๖.
[5] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า๖๑
[6] สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, คู่มือปัญญา ( กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย),๒๕๕๕ หน้า ๑๑๕-๑๑๖.
[7] มโหสถบัณฑิต ตอนที่ ๑๓ ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์(สืบค้นจาก http://buddha.dmc.tv/ธรรมะเพื่อประชาชน/mahosod13.html เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)
[8] สํ.ส. ๑๕/๕๐
[9] วศิน อินทสระ, ศรัทธากับปัญญาในพระพุทธศาสนา. (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ธรรมดา),๒๕๕๔
[10] สํ.ส. ๑๕/๙
[11] สํ.ส. ๑๕/๕๒
[12] สํ.ส. ๑๕/๑๘
[13] องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๘๖/๑๗๒
[14] พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี).ธรรมเทศนา. วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่
จังหวัดหนองคาย
[15] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า ๑๓๒.
[16] ขุ.ขุ. ๒๕/๔๑๘/๓๗๖.
[17] ขุ.ขุ. ๒๕/๔๑๙/๓๗๖-๓๗๗.
[18] .มู.(บาลี) ๑๒/๔๕๒/๔๐๓
[19] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า ๕๖๕.
[20] เรื่องเดียวกันหน้า ๖๑๑.
[21] ที.ม. ๑๐/๓๗๓/๓๐๑.
[22] องฺ.เอกก. ๒๐/๕๐๕/๑๗๙-๑๘๔.
[23] องฺ.เอกก. ๒๐/๕๐๕/๑๗๙-๑๘๔.
[24] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย   (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า ๔๒๗.
[25] เรื่องเดียวกันหน้า ๔๒๗.
[26] พิสิฐ  เจริญสุข, คู่มือการอบรมสมาธิ. (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา),๒๕๔๒ หน้า ๕๗-๕๙.
[27] วงศ์  ชาญบาลี(ผู้ชำระ),คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค(ไทย), ( กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร), ๒๕๒๕ หน้า ๕๓๔-๕๓๖.
[28]  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙ หน้า ๒๗๙, ๔๕๙.
[29]  สํ.. ๑๙/๕๑๔/๓๒๗  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มหาภูตรูปตามทัศนะทางปรัชญา

ความหลากหลายทางเพศในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท