ความหลากหลายทางเพศในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท

ความหลากหลายทางเพศในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท

บทนำ
            ในปัจจุบันมีคำที่ทับซ้อนคำว่า “เพศ” มากมายเช่น เพศสรีระ เพศภาวะ เพศวิถี บทบาทเพศ ความหลากหลายทางเพศการให้ความหมายเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องซับซ้อน เนื่องจากในอดีตคำว่า เพศ" มีการรับรู้และจัดแบ่งไว้อย่างชัดเจนว่ามีเพศชายและเพศหญิง การให้การศึกษาเรื่องเพศในสังคมต่าง ๆ ยังคงตีกรอบอยู่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับรักต่างเพศ แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ เช่น การไหลบ่าของกระแสทุนนิยมระดับโลก โลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลนี การเดินทางและการสื่อสาร การย้ายถิ่นและธำรงความสัมพันธ์ของผู้คนข้าพรมแดน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลก รวมถึงความหลากหลายของอุดมการณ์และวิถีปฏิบัติทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่างทำให้สังคมโลกเปลี่ยนไปในทุกมิติ มนุษย์ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพทางความคิด เปิดพื้นที่ทางสังคม แสดงออกซึ่งรสนิยมส่วนบุคคลได้อย่างหลากหลาย จนเกิดพหุวัฒนธรรมทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้น  ศาสนาและความหลากหลายทางเพศมีมิติที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น แม้แต่ในสังคมไทยก็ตกอยู่ภายใต้พลวัฒน์ทางสังคม

มโนทัศน์เรื่องความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นหนึ่งในความหลากหลายในสังคมปัจจุบัน มโนทัศน์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดเสรีนิยมมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความยุติธรรม ความชอบธรรมและสิทธิให้กับกลุ่มคเหล่านั้นใน ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา สันทนาการทั้งในพื่นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวตามแบบวัฒนธรรมของกลุ่มตนได้ เช่น มีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ทำพิธีกรรม พูดภาษาของตนเอง การถือครองที่ดิน ลักษณะที่สองสิทธิความเป็นพลเมืองที่ควรได้รับจากรัฐ เช่น โอกาสทางการศึกษา การได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองตามกฎหมาย นโยบายกีดกันการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการได้รับความเท่าเทียมในการจ้างแรงงาน เป็นต้น สำหรับสังคมไทยนั้น นอกเหนือไปจากความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติทางศาสนาที่ปราอยู่ ยังมีการดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ภาวะและเพศวิถีที่ไมได้เกิดขึ้นภายใต้สถาบันการแต่งงานและไม่ได้จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์แบบคู่เพศตรงข้าม เช่น เพศวิถีของหญิงรักหญิง ชายรักชาย การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มต่างๆ เพื่อเรีกยร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ การปรากฏอยู่ของความแตกต่างหลากหลายทางเพศภาวะและเพศวิถีนี้แทนที่จะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย กลับถูกประทับตราในเชิงลบ ส่งผลให้รัฐและสังคมเกิดความวิตกกังวล ให้ความสนใจเป็นพิเศษ รวมไปถึงหาแนวทางการควบคุมในเรื่องเหล่านี้ ( ปณิธี  บราวน์ : ๕๒-๕๓ )
ความคิดเรื่อง “ ความหลากหลายทางเพศ” เกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฏีที่ใช้ทำความเข้าใจพฤติกรรม อัตลักษณ์และการปฏิบัติทางเพศของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีการถกเถียงกันมายาวนานในประวัติศาสตร์ เท่าที่ผ่านมาความคิดเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นความคิดที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานและกฏเกณฑ์ของสังคม เช่น การแสดงอัตลักษณ์ของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ ทั้งนี้การแสดงอัตลักษณ์ทางเพศในแบบที่ต่างไปจาก “ผู้ชาย” และ “ ผู้หญิง” เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาได้ศึกษาเรื่องราวของกลุ่มคนที่แสดงอัตลักษณ์แบบคนข้ามเพศ หรือ Transgender ที่ผู้ชาย ( ตามเพศสรีระ) จะแสดงบทบาทเป็นผู้หญิง การแสดงอัตลักษณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มีความหลากหลายในการแสดงออกทางเพศ ซึ่งสืบเนื่องมาจากวิธีคิดและความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ดังนั้นการทำความเข้าใจ “ความหลากหลายทางเพศ” จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะจะช่วยทำให้เข้าใจค่านิยม ความเชื่อ โลกทัศน์ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่หล่อหลอมให้มนุษย์แสดง อัตลักษณ์ทางเพศ อย่างไรก็ตาม“ความหลากหลายทางเพศ”ยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในเชิงแนวคิดทฤษฏีจากสกุลความคิดต่าง ๆ ในสังคมตะวันตก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองขั้วใหญ่ ๆ สองขั้ว ระหว่างขั้วที่เชื่อในระบบสองเพศหรือความเป็นเพศตามธรรมชาติที่มีเพียงเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น และจะปฏิเสธหรือตำหนิการแสดงอัตลักษณ์หรือพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศตามธรรมชาติ กับขี้วที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกและอัตลักษณ์ทางเพศได้หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับเพศตามธรรมชาติหรือเพศสรีระแต่อย่างใด บทความเรื่องนี้จึงเป็นความพยายามที่จะพยายามทำความเข้าใจเรื่อง “เพศ” (การแสดงพฤติกรรม อารมณ์ และอัตลักษณ์) แบบเปิดใจกว้าง โดยทำความเข้าใจจากหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ตำราวิชาการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เห็นว่า “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นเรื่อง “ปกติ”
สร้างความเข้าใจและเปิดรับความแตกต่างนั้น สังคมจะหลุดพ้นจากอคติเรื่องเพศ อีกทั้งดำรง ตนอย่างคนที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนทุกเพศทุกวัยโดยไม่ด่วนตีตราประณามหรือกีดกัน ดังนั้นจำเป็นที่ต้องสร้างความเข้าใจและเปิดกว้างเกี่ยวกับทัศนะความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น และเพื่อเป็นการนำเสนอทัศนะทางพุทธปรัชญาต่อเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” ถึงที่มา สาเหตุของบุคลิกภาพที่หลากหลาย ที่ปรากฏใน เพื่อเสนอคำตอบ ซึ่งจะนำไปสู่การให้คำปรึกษาและวางท่าทีที่ถูกต้อง ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศและมิติมุมมองจากสังคมโดยรวมในบทความนี้จึงนำเสนอ ความหมายเพศตามทัศนะนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเพศในรูปแบบต่างๆ ดังนี้



ความหมายของเพศแนวคิดเกี่ยวกับเพศ

ความหมายของเพศ                   
            ราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๕๔) ได้ให้ความหมายของคำว่า เพศ ไว้ว่าเป็นคำนาม หมายถึง รูปที่ แสดงให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย,(ไว)ประเภทคำในบาลีและสันสกฤต เป็นต้น, ตรงกับ ลิงค์ หรือ ลึงค์; เครื่องแต่งกาย ; การประพฤติปฏิบัติตน เช่น “สมณเพศ”นั่น  คือการแสดงออกด้วยลักษณะทางกายภาพให้ทราบว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย            
            พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๕๖) ได้ให้ความหมายคำว่าเพศหมายถึง ลักษณะที่ให้รู้ว่าหญิงหรือชาย, เครื่องหมายว่าเป็นชายหรือเป็นหญิง ลักษณะและอาการที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นบุคคลประเภทนี้ๆ เช่น โดยเพศแห่งฤษี เพศบรรพชิต เพศ แห่งช่างไม้เป็นต้น

            กฤตยา  อาชวนิจกุล (๒๕๕๔) ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเพศไว้ดังนี้   
            เพศสรีระ (Sex) เป็น "เพศ" ที่หมายถึงสรีระร่างกายหรือเขียนให้ตรงก็คือ อวัยวะที่บ่งบอก ว่าเป็นเพศอะไร
            เพศสภาวะ (Gender) เป็น "เพศ" ที่หมายถึงภาวะแห่งเพศที่ถูกประกอบสร้างทางสัมคมเพศ ภาวะที่เราคุ้นเคยและถูดขัดเกลาหลอมสร้างกันมาก็คือ ความเป็นหญิงและความเป็นชาย ดังนั้นใน อีกแง่มุมหนึ่ง เพศภาวะจึงเป็นเรื่องของบทบาทในเรื่องต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้กับสถานะทางเพศ ซึ่งมักดูจากเพศสรีระคือ หญิง ชาย และหากสังคมเกิดเปลี่ยนการกำหนดสถานะภาพทางเพศว่าอาจ มาจากองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจาก เพศสรีระ สถานะภาพทางเพศก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ฯลฯ อันจะนำไปสู่การกำหนดบทบาทเพศต่างๆ มากกว่าหญิงและชาย
            เพศวิถี (Sexuality)  หมายถึง วิถีชีวิตทางเพศที่ถูกหลอมสร้างจากค่านิยม บรรทัดฐานและ ระบบวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความปรารถนาและการแสดงออกทางเพศ ความคิดเกี่ยวกับคู่รัก คู่ชีวิตในอุดมคติและกามกิจ ซึ่งเป็นระบบความคิดและพฤติกรรมที่มีความหมายทางสังคมสัมพันธ์ กับมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดและสร้างความหมายให้แก่เรื่องเพศ ในหลากหลายแง่มุม         
            อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) หมายถึง สามารถรับรู้ได้ในส่วนลึกและประสบการณ์ ทางเพศภาวะ (gender) ของเฉพาะบุคคล ที่อาจจะสอดคล้องหรืออาจจะไม่สอดคล้องกับเพศ โดย ดำเนินรวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกและการทำงานของร่างกายเฉพาะตน (ที่อาจจะเกิดมากจากการเลือก โดยอิสระของบุคคลนั้นหรืออาจจะเกิดมากจากการดัดแปลงรูปลักษณ์หรือกลไกการทำงานของร่างกายโดยวิธีการทางการแพทย์ การทำศัลยกรรมหรือวิธีการอื่นใด) และการแสดงอออกของเพศ ภาวะในด้านอื่นๆ ที่หมายถึงการแต่งกายการพูดจา และกริยาท่าทางต่างๆ (กฤษตยา  อาชวนิจกุล, ๒๕๕๔ )
            อัตตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวข้องกับการเลือกที่จะแสดงออกในทางร่างกาย กิริยามารยาทและ วิถีชีวิตของคนว่าจะเป็นหญิงหรือชายซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องในระดับต่าง ๆ กับการกำหนดหรือรับรองของรัฐ และสังคมอัตตลักษณ์ทางเพศยังมีแง่มุมของการเลือกและแสดงออกของรสนิยมและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการเกี่ยวข้องในทางเพศ ทั้งพวกรัก/มีเซ็กส์ กับคนต่างเพศเท่านั้น คนรักและ/หรือมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน และพวกที่ชอบทั้งสองเพศ/เพศสภาพ รสนิยมและวิถีชีวิตที่ต่างไปจากรักต่างเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย ก็เลยไม่มีที่ทางและถูกกีดกันจากชีวิตทางสังคมการเมืองอัตตลักษณ์ทางเพศสะท้อนการต่อรอง และขัดขืนของคนหลายกลุ่มในระบบที่บังคับและจำกัดการเลือกและวิถีชีวิตเรื่องเพศและเพศสภาพ
(ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์, ๒๕๕๖)
            สรุป อัตลักษณ์ทางเพศหมายถึงความรู้สึกภายในที่มีต่อตนเองว่าตนเองเป็นหญิงหรือชาย

       จเร  สิงหโกวินท์ (๒๕๕๘) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพและเพศวิถีศึกษาได้แบ่งกลุ่มเพศออกเป็น ๓ หมวด ๑๒ ประเภทดังนี้
            ๑. เพศ คือการแบ่งตามอวัยวะเพศ เพศ" นั้น ปกติจะแบ่งในลักษณะของเพศชีวภาพ คือ เกิดมาอย่างไร โดยระบุตามอวัยวะเพศที่มีมาแต่กำเนิด รวมถึงมีการแปลงเพศภายหลังแบ่งได้เป็น๕ ประเภทคือ
                  ๑.๑ เพศชาย บุคคลซึ่งมีอวัยวะเพศชายมาโดยกำเนิด
                  ๑.๒ เพศหญิง บุคคลซึ่งมีอวัยวะเพศหญิงมาโดยกำเนิด
                  ๑.๓ คนที่เกิดมาแล้วมีทั้ง ๓ เพศ หรือ Intersex
                  ๑.๔ คนที่เกิดมาแล้วไม่สามารถบ่งบอกเพศได้
                  ๑.๕ โดยปัจจุบันถ้าจะดูกันที่อวัยวะเพศ จะมีคนที่ได้ไปให้แพทย์ทำการแปลงเพศให้ ด้วย ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน เรียกว่า Transsexual (แปลงเพศ)

            ๒. เพศสภาพ คือลักษณะที่สังคมให้คุณค่า ว่าคน ๆ นั้นคือความเป็นเพศอะไรมี ๓ ประเภท
                   ๒.๑ ความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชายหรือคุณลักษณะ ลักษณะที่สังคมให้คุณค่าซึ่งเป็น ลักษณะที่สังคมให้ความหมายว่านี้คือคุณลักษณะของผู้ชาย นี้คือคุณลักษณะของ ผู้หญิง เช่น ผู้หญิงควรมีความนุ่มนวล อ่อนหวาน เอาใจใส่ เป็นผู้ตามที่ดี ผู้ชาย สังคมก็บอกว่า ชอบอิสระ ชอบการออกกำลังกาย มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ เด็ดเดี่ยว
                     ๒.๒ คนข้ามเพศหรือTransgender คนที่มีเพศกำเนิดอันนึง แต่อยากเป็นอีกเพศหนึ่ง ไม่ได้มีการบ่งบอกว่า มีการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ หรือยังแค่บ่งบอกในลักษณะของ คุณลักษณะที่สังคมให้ความหมาย
                  ๒.๓ พฤติกรรมข้ามเพศบางโอกาส หรือ Transvestite คาบเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี เหมือนกับ transgender เช่น การแต่งคอสเพลย์ ที่มีผู้ชายบางคนนิยมแต่งเป็นผู้หญิงในชีวิต ประจำวัน แต่แต่งแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เขาก็ยังชอบผู้หญิงอยู่ใช้ได้กับทั้งผู้หญิงผู้ชาย
            ๓. เพศวิถี คือ รสนิยมทางเพศ หรือความพึงพอใจทางเพศมี ๔ ประเภทคือ
                      ๓.๑ รักต่างเพศ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม คือ หญิงชอบชาย ชายชอบหญิง
                      ๓.๒ รักเพศเดียวกัน เช่น เกย์ ได้แก่ ชายรักชาย, เลสเบี้ยน ได้แก่ หญิงรักหญิง
                      ๓.๓ ไบเซ็กชวลหรือ Bisexual คือ ชอบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
                     ๓.๔ คนที่มีลักษณะไม่ชอบเพศไหนเลย ในเชิงที่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ อยากจะรักเพศไหนเลย

ความเป็นชายและความเป็นหญิง
บุคลิกภาพความเป็นชาย (Masculinity) และความเป็นหญิง (Femininity) (Chaplin, J.P.  ๑๙๗๕) ได้ให้ความหมายไว้ใน Dictionary of Psychology ว่าความเป็นชาย (Masculinity) หมายถึง สถานภาพหรือเงื่อนไขของร่างกายที่ทำให้ปรากฏคุณลักษณะของเพศชาย ความเป็นหญิง (Femininity)หมายถึง คุณภาพของคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้ปรากฏเป็นเพศหญิงหรือคุณภาพหรือสถานภาพเริ่มต้นของเพศหญิง 

            ความเป็นชายและความเป็นหญิง  สุธาดา  เมฆรุ่งเรื่องกุล (๒๕๔๑: ๑) ได้ให้นิยามความหมายไว้ดังนี้
           ความเป็นชาย (Masculinity) หมายถึง เป็นคุณภาพของบุคคล หรือคุณลักษณะที่บ่งบอกถึง คุณลักษณะเฉพาะหรือคุณลักษณะที่เหมาะสมกับเพศชายคำว่า "ความเป็นชาย" อาจจะหมายถึง มนุษย์หรือสัตว์ หรือสิ่งที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะของความเป็นชาย เมื่อใช้คำว่า "ความเป็นชาย"  เพื่อระบุความเป็นผู้ชายโดยทั่วไปอาจจะระบุระดับมากน้อยของความเป็นชายได้ เช่นมีความเป็นชาย มากกว่า มีความเป็นชายมากที่สุด
           ความเป็นหญิง (Femininity) บางครั้งใช้คำว่า ความเป็นผู้หญิง (womanliness) หรือสภาวะ ของการเป็นผู้หญิง (womanhood) คือ ชุดของคุณสมบัติ พฤติกรรมและบทบาทโดยทั่วไป ที่เชื่อมโยงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเป็นเด็ดหญิงและผู้หญิงความเป็นหญิงถูกสร้างความหมายผ่านปัจจัย การหล่อ หลอมทางสังคมและปัจจัยทางชีววิทยา การให้ความหมายในลักษณะนี้แตกต่างไป จากการให้คำจำกัดโดยใช้ปัจจัยด้านชีววิทยาของเพศหญิงอย่างง่าย ๆ มาอธิบายด้านเดียว ดังนั้นผู้ชายและคนข้ามเพศสามารถที่แสดงอุปนิสัยและคุณสมบัติความเป็นหญิงได้ทั้งสิ้น อุปนิสัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเป็นหญิงยังรวมถึงปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมและในหลาย ๆ กรณีขึ้นอยู่กับบริบททางพื้นที่และภูมิประเทศที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย
           
ความหลากหลายทางเพศ
            ความหมายความหลากหลายทางเพศนั้น เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือจากการให้ความ หมายของผู้เชี่ยวชาญและเอกสารการวิจัยเพื่อสรุปคำจำกัดความดังต่อไปนี้
            ธันนิกานต์  สูญสิ้ยภัย (๒๕๔๖) ลักษณะพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์นั้นแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ได้แก่ รักต่างเพศ รักร่วมเพศ และรักทั้งสองเพศ คำว่า "รักร่วมเพศ" ซึ่งแปลมาจากคำว่า  "Homosexual"  จากภาษากรีก คือ "Homo"  ซึ่งมีความหมายว่า "เหมือนกัน" ส่วนคำว่า "sexual" ความหมายว่า เกี่ยวกับเพศ คำอธิบายดังกล่าว เหมาะสมที่จะนำมาอธิบาย ความหลากหลายทางเพศ ที่นอกเหนือจากเพศชายและเพศหญิง       
            ปิยรัตน์  มาร์แต็ง (๒๕๔๖) ให้ความหมายไว้ว่า รักร่วมเพศ หมายถึง การมีความรู้สึกทางเพศ หรือกามารมณ์ต่อบุคคลในเพศเดียวกัน และชอบสมสู่หรือร่วมเพศกับบุคลลในเพศเดียวกันด้วย  รักร่วมเพศเป็นความผิดปกติทางเพศ ที่เน้นในเรื่องลักษณะของคู่ร่วมเพศว่าจะต้องเป็นเพศเดียวกัน ชอบประกอบกามกิจด้วยวิธีแปลกๆ และแตกต่าง มีบุคลิกภาพโดยทั่วไปแตกต่างจากคนปกติหรือ รักต่างเพศ (Heterosexual) อย่างเห็นได้ชัดทั้งทางร่างกายและจิตใจ พวกรักร่วมเพศนี้ พบได้ทั้งใน เพศชายและเพศหญิง พวกรักร่วมเพศในเพศชายมีชื่อเรียกว่า "Homosexual" หรือ "Gay" ในเพศหญิงเรียกว่า "Lesbian"                     
            อุดมศิลป์  ศรีแสงนาม (๒๕๓๒) ได้ให้ความหมายและจัดแบ่งประเภทบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ ๖ ประเภท ดังนี้
              ๑. กะเทย ทางการแพทย์เรียกเฉพาะคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายจริง ๆ ตั้งแต่กำเนิด          มีลักษณะทางเพศคือ อวัยวะเพศหญิงและชายก้ำกึ่งกำกวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน บอกไม่ได้ว่าเป็นหญิง หรือชายกันแน่ทางกายภาพกะเทยจริง ๆ คือคนที่มีความผิดปกติทางเพศในตัวอย่างชัดเจนก้ำกึ่งกัน เป็นหญิงก็ไม่ใช่เป็นชายก็ไม่เชิง เป็นความผิดปกติทางกายมีเต้านม มีอวัยวะเพศคล้ายๆ ผู้หญิง แต่ถ้า ดูกันให้ชัดเจนจะเห็นมีองคชาตแต่นิดเดียว ความจริงแล้วเป็นช่องคลอด ถุงอัณฑะ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ ถุงอัณฑะ แต่เป็นแคมนอกแล้วก็มีแคมใน
               ๒. ลักเพศ หมายถึง คนที่เกิดมาทางกายภาพเป็นชาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นหญิง ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ชายก็มีองคชาตมีลูกอัณฑะ มีฮอร์โมนเพศครบถ้วนเป็นผู้หญิงก็มีอวัยวะต่างๆ ของหญิงครบถ้วน คนกลุ่มนี้มีรสนิยมทางเพศแปลก คือจะมีความสุขทางเพศเกิดขึ้นจาก การที่ได้สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องใช้ของเพศตรงข้ามกับเพศธรรมชาติของตนเอง
           ๓. เปลี่ยนเพศ คนพวกนี้เกิดมาเป็นชาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นหญิง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความผิดปกติทางร่างกายเลยแม้แต่นิดเดียว ฮอร์โมนปกติทุกอย่าง เพียงแต่เขามักจะบอกว่าเป็นอุบัติเหตุของพระเจ้าจริง ๆ ที่ส่งเขา ซึ่งมีวิญญาณมีชีวิตจิตใจ เป็นหญิงมาเกิดบนร่างชาย หรือส่งเขาซึ่งมีวิญญาณ ที่เป็นชายมาเกิดบนร่างของผู้หญิง คือจิตใจวิญญาณบางครั้งตรงกันข้ามกับเพศธรรมชาติ ของเขาพวกนี้จะทำทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนเพศให้ได้
            ๔. รักต่างเพศ คนปกติหรือสัตว์ปกติเป็นรักต่างเพศ ถ้าเป็นชายก็รักหญิงโดยสัญชาตญาณ แล้วคือรักคนที่เป็นเพศตรงข้ามกับเรา
            ๕. รวมเพศเป็นรัก ๒ เพศ คือรักได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เรียกได้ว่าได้ทั้งกระแสตรงและกระแส สลับมีมากกว่าพวกรักร่วมเพศเสียอีก ในสังคมไทยมีมากแต่งงานมีลูกแล้วมีชีวิตรักส่วนตัว ชอบไม้ป่าเดียวกันชายที่เป็นรัก ๒ เพศก็เยอะ หญิงที่เป็นรัก ๒ เพศก็มาก พวกนี้ฟังดูเหมือนได้เปรียบคน อื่นเขาแต่จะมีพฤติกรรมทางเพศเด่นไปทางใดทางหนึ่งจะเป็นชนิด ๕๐:๕๐ ไม่ค่อยมี
            ๖. รักร่วมเพศหมายถึง คนที่มีความสุขทางเพศกับคนที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง ถ้าเกิดมา เป็นชายก็ชาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ว่าจะร่างกาย จิตใจ อวัยวะเพศเป็นหญิงก็ ๑๐๐เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าจะเกิดความสุขความพอใจทางเพศกับคนที่เป็นเพศเดียวกัน ถ้าเป็นชายรักกับชาย เรียกว่ารักร่วมเพศ ชายถ้าเป็นหญิงรักกับหญิง เรียกว่ารักร่วมเพศหญิง
            จิราภรณ์  อรุณากูร (๒๕๕๗) ได้อธิบาย ถึงศัพท์ที่มีการบัญญัติใช้กันทางการแพทย์ เกี่ยวกับ การเรียกขานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ดังนี้ Gender Variant ความหลากหลายทางเพศ Gender Spectrum ความเชื่อมโยงทางเพศ Gender Non-conforming คนที่เกิดมามีเพศไม่ถูกกับเพศ ที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด LGBTIQ ได้แก่ Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (ชอบทั้ง ชายทั้งหญิงที่ยังไม่มีการแปลงเพศ) Transgender (ตุ๊ด ทอม กระเทย ผู้หญิงข้ามเพศ เริ่มทําาการ เปลี่ยนแปลงทางกายของตัวเอง) Intersex ( คนสองเพศ คนที่เกิดมามี ๒  เพศ) Questioning queer (คนที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายใด ซึ่งจะพบคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น  ร่างกายเป็นผู้หญิงมีแฟน เป็นผู้หญิงแต่ไม่ใช่ทอม แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นทอมและจะนิยามตัวเองว่าไม่สังกัด ฝ่ายใด)         
            ส่วนคําจํากัดความที่คนทั่วไปมักนิยมใช้เรียกขานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่ง เป็นคําที่เราเคยได้ยินกันมาเช่น "เพศที่สาม" เป็นคําาที่ใช้กันมากแต่ก็หาคําาตอบได้ยากและมักจะมี การถกเถียงกันว่าแล้วใครเป็นเพศที่ ๑ เพศที่ ๒ ก่อนจะมาเป็นเพศที่ ๓ "เบี่ยงเบนทางเพศ" ด้วย ความหมายที่แปล ว่าผิดไปจากปกติ จึงฟังดูเป็นคําาที่ค่อนข้างแรง หากเปรียบเทียบกับคนที่ถนัด ซ้ายแล้วหลายคนอาจมองว่าเป็นคนที่ผิดปกติ แต่คนถนัดซ้ายมีความสามารถทัดเทียมคนถนัดขวาก็เหมือน กับเพศที่แบ่ง แยกลักษณะออกไป แต่ความสามารถทัดเทียมไม่มีความแตกต่าง "เพศทางเลือก" ด้วยคํานี้จะเป็นการสื่อให้เห็นว่าสามารถเลือกเพศได้       
            กฤษตยา  อาชวนิจกุล (๒๕๕๔) ได้อธิบายถึงศัพท์  "ความหลากหลายทางเพศ"  (Sexual Diversities) ว่าหมายถึง ผู้ที่มีเพศวิถีทางเลือกทุกแบบไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หญิงรักหญิง เกย์คิง เกย์ควีน ควิง ทอม ดี้ กะเทย สาวประเภทสอง คนข้ามเพศ ตุ๊ด แต๊บ ฯลฯ รวมถึงผู้ที่รักต่างเพศด้วย
            จากความหมายความหลากหลายทางเพศดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ความหลากหลายทาง เพศหมายถึง บุคคลที่มีภาวะความพึงพอใจกับต่างเพศของตน และบุคคลที่มีภาวะความพึงพอใจกับ บุคคลเพศเดียวกัน อาจมีความสัมพันธ์ทางเพศเดียวกันหรือไม่มีก็ได้ บุคคลที่มีภาวะความพึงพอใจ เพศเดียวกันแบ่งออก ได้เป็น ๓ แบบคือ
๑) ชายรักชาย(เกย์)
๓) หญิงรักหญิง (เลสเบี้ยน,ทอม,ดี้)            
๓) ภาวะความพึงพอใจแบบ ๒ เพศ คือ ชายรักได้ทั้งชายและหญิง หญิงรักได้ทั้งหญิงและชาย (ไบโอ เซ็กชวล)ซึ่งการเรียกคนรักเพศเดียวกันหรือรักได้ทั้ง ๒ เพศเรียกได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และการแสดงออกของแต่ละบุคคล
            สรุปความหลากหลายทางเพศหมายถึง พฤติกรรมความรู้สึกที่แสดงออกระหว่างเพศทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศหรือทั้งสองเพศ ทั้งนี้มนุษย์สามารถแสดงออกถึงบทบาททางเพศและอัตลักษณ์ ได้หลายแบบ โดยเน้นการมองการแสดงออกทางเพศในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าการมองว่าเพศมีแค่ชายและหญิง

ทัศนะทางเพศในพุทธปรัชญาเถรวาท
            แนวคิดพุทธปรัชญามองว่า เพศได้ถูกกำหนดไว้เป็นสัญลักษณ์ให้มนุษย์ได้ทราบความจริง เชิงสมมติ เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นเพศถ้ากล่าวในเชิงปรมัตถ์ จึงไม่มีอยู่เพราะ ชีวิตปราศจากตัวตนที่แท้จริง   และมนุษย์ทุกเพศล้วนมีค่าแห่งความเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกันหมด การแบ่งแยกทางเพศมีเป้าหมายหลัก คือการทำหน้าที่เพื่อการดำรงพันธุ์อันเป็นหน้าที่สำคัญที่ธรรมชาติ มอบหมายให้มาหน้าที่อื่น ๆ แยกกันทำได้แต่หน้าที่ทางเพศในการดำรงพันธุ์ จะต้องกระทำร่วมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงซึ่งหลักธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาได้มุ่งไปที่
            ๑.ความสำคัญของของอารมณ์ทางเพศ (กามอารมณ์) หรือ กามสภาวะ (ราคะสภาวะ)
            ๒.การรู้เท่าทันอารมณ์ทางเพศ (กามอารมณ์) หรือสติสังสร
            ๓.การควบคุมอารมณ์ทางเพศ กามารมณ์) หรือ กามสังวร
            เพราะอารมณ์ทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกามนั้น หลักธรรมวินัยในพุทธปรัชญาจึงระบุว่า ไม่เคยเต็มอิ่มสำหรับสัตว์โลก(มนุษย์)ผู้โง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้สัทธรรม ฉะนั้นจุดประสงค์ในทัศนะพุทธปรัชญาจึงมี ๒ ด้านคือ ในด้านกามสุขและในด้านการปล่อยวาง(ละ)เรื่องทางเพศ  แนวทางและเป้า หมายของพระพุทธศาสนาคือ การบรรลุธรรมขั้นสูงหรือพระนิพพาน พระพุทธเจ้าปฏิเสธการมีเพศ สัมพันธ์ทุกรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงการร่วมเพศหรือการเสพเมถุนที่เป็นการกระทำทางกาย ภาพขั้นหยาบที่สุด ทรงเห็นว่าเพศสัมพันธ์แม้มีเป้าหมายเพื่อการสืบพันธุ์ก็ตาม แต่เป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิด ขณะที่การเกิดเป็นบ่อเกิด(ต้นตอ)แห่งความทุกข์ทั้งมวล (พีรพร  พงศ์พิพัฒนพันธุ์, ๒๕๕๖: ๑๖)

ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระอภิธรรมปิฎก

         ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระอภิธรรมตามนัยพระอภิธรรมนั้นกล่าวว่า  ความเป็นมนุษย์มีองค์ประกอบ ๒ อย่างคือองค์ประกอบทั้งกายภาพหรือรูปและจิตภาพหรือจิตหรือนาม(สุนทร ณ รังสี,๒๕๔๑:๑๑๙-๑๖๔) ส่วนประกอบทั้ง ๒ อย่างนี้ในส่วนของกายภาพหรือรูปนั้นได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทยรูป ๒๔ ความหลากหลากทางเพศนั้น ปรากฏในภาวรูป ๒ ซึ่งเป็นส่วนอิงอาศัย อุปาทยรูป ภาวรูปทั้ง ๒ นั้นเป็นรูปที่แสดงความเป็นหญิง (อิตถีภาวรูป) และความเป็นชาย(ปุริสภาวรูป) (อภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค) นอกจากรูปที่แสดงความเป็นหญิงและชายแล้วยังปรากฏบุคคลที่มี ๒ เพศหรือไม่ปรากฏเพศใดเพศหนึ่ง ชัดเจนซึ่งเรียกว่า อุภโตพยัญชนกบุคคล (กะเทยแท้) ส่วนพฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือกะเทยนั้นได้ อธิบายว่ามี ๒ ลักษณะ คือ ๑. ความเป็นกะเทยให้ผลในปฏิสนธิกาล (ขณะการเกิด : กลละ) ๒. ความ เป็นกะเทยมาให้ผลในปวัตติกาล คือภายหลังปฏิสนธิตั้งแต่คลอดจึงถึงสิ้นชีวิต

ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก

ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎกนั้นเป็นการกล่าวถึงที่มาสาเหตุของบุคลิกภาพ พระสูตรที่กล่าวถึงสาเหตุที่มาของความหลากหลายทางเพศนั้นมีกฎอยู่หลายพระสูตร ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเรื่อง พระนางรุจาราชธิดาในมหานารทกัสสปชาดกพบว่าความหลากหลายทางเพศนั้นมีสาเหตุมาจากการละเมิดศีลข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร เหตุจากการล่วงละเมิดนั้นเป็นผล ให้ได้รับผลในชาติต่อ ๆ มา คือ ตกนรกหมกไหม้อยู่ในนโรรุวนรกเป็นเวลายาวนานจากนั้นเกิดเป็น ลาถูกตอนเพศ เกิดเป็นลิงตัวผู้ถูกจ่าฝูงกัดลูกอัณฑะ เกิดเป็นโคถูกตอน  เกิดเป็นกะเทย เกิดเป็นโอปปาติกะ เป็นนางอัปสรในชั้นดาวดึงส์ เกิดเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มากเป็นหัวหน้าเทวดาและสุดท้ายเกิดเป็นพระนางรุจาราชธิดาบุตรธิดาของพระเจ้าอังคติราชผู้ครองนครมิถิล (ขุ.ชา. ๒๘/๘๖๓/๒๐๗-๒๐๘)
และเรื่องอิสิทาสีเถรีในอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา จัตตาฬีสบาตรพบว่าความหลากหลายทางเพศ นั้นมีสาเหตุมาจากการละเมิดศีลข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร เหตุจากการล่วงละเมิดนั้นเป็นผลให้ ได้รับผลในชาติต่อ ๆ มาคือตกนรกเป็นระยะเวลานาน จากนรกเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอีก ๓ ชาติ โดยทุกชาติมีเหตุให้สูญเสียอวัยวะเพศ และเกิดเป็นผู้หญิงก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่เชิงหรือเป็นกะเทย ในชาติต่อมานางได้กระทำอกุศลกรรมเพิ่มคือขับไล่ภรรยาหลวงผู้มีศีลธรรมออกจากบ้าน เป็นผลให้นางได้รับ กรรมในชาติต่อมาคือ นางแต่งงานถึง ๓ ครั้งและทุกครั้งสามีก็ปฏิเสธที่จะอยู่ร่วมด้วยไม่มีสาเหตุ  ทั้งที่นางได้ปรนนิบัติสามีเป็นอย่างดี (ขุ.เถรี.  ๒๖/๔๗๓/๔๓๘-๔๓๙)

ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระวินัยปิฏก

         ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระวินัยปิฏกนั้น อธิบายความหลากหลายทางเพศในประเด็นของลักษณะ บุคลิกภาพความหลากหลายทางเพศและว่าด้วยวินัยของพระสงฆ์ เพื่อต้องการควบคุมพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ในพรหมจรรย์และละจากกิจกรรมทางเพศทั้งปวง ดั้งนั้นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ (เมถุนธรรม-ธรรมอันชั่วหยาบ) จะถือว่าผิดและต้องขาดจากการเป็นพระ( ปาราชิก) ความหลากหลายทางเพศ ในพระวินัยปิฏกนั้นมีคำว่าที่ใช้เรียกผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือมีความผิดปกติทางเพศว่า “บัณเฑาะก์” มีผู้ให้ความหมายคำว่า บัณเฑาะก์ ไว้ดังนี้
            อรรถกถาวินัยปิฎกพระอรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมาย “บัณเฑาะก์”ไว้ว่า “มนุษยชาติที่มิใช่ชายหรือหญิงมีกิเลสหนา มีความกำหนัดกลัดกลุ้มไม่รู้จักสร่าง และพวกบัณเฑาะก์ที่ถูกกำลังแห่งความกำหนัดกลัดกลุ่มครอบงำแล้ว ย่อมปรารถนาความสนิทสนมกับชายคนใดคนหนึ่ง (มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐: ๘๔)
            พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (๒๕๕๖: ๑๗๙) ได้ให้ความหมายไว้ว่า "บัณเฑาะก์" คือ กะเทย คนไม่ปรากฏชัดว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิงได้แก่ กะเทยโดยกำเนิด ๑ ชายผู้ถูกตอนที่เรียกว่าขันที ๑ ชายมีราคะกล้าประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น
            ทั้งนี้พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช) (๒๕๕๖) ได้ให้ความหมายบัณเฑาะก์ไว้ว่า บัณเฑาะก์ (บัน-เดาะ) ตรงกับคำบาลีว่า "ปณฺฑก" ได้แก่คน ๓ ประเภท
              ๑. ชายผู้ประพฤตินอกรีตในทางเสพกาม (ผู้มีราคะจัด)
              ๒. ชายผู้ถูกตอน หรือ ขันที
              ๓. กะเทยโดยกำเนิด (ผู้ไม่ปรากฏว่าชายหรือหญิง)
            บัณเฑาะก์ ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นอภัพบุคคล คือ บุคคลที่ไม่สมควรบวชเป็นพระภิกษุ ผู้ห้ามบวชและห้ามพระอุปัชฌาย์ให้บวชเด็ดขาด ถ้าพระอุปัชฌาย์ฝ่าฝืนมีความผิด ให้ถอดถอนจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์
            สรุปได้ว่า บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย ๓ ประเภท คือ (๑) กะเทยที่มีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับ เพศของตนประพฤตินอกรีตในทางเสพกามและมีราคะจัดยั่วยวนให้ชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น (๒) กะเทย แท้ที่ไม่ปรากฏเพศหรือมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงมาแต่กำเนิด (๓) รวมทั้งกะเทยที่ถูกตอนหรือขันที

บุคลิกภาพและการแบ่งประเภทของบัณเฑาะก์

ในพระวินัยปิฏกระบุว่า “บัณเฑาะก์” เป็นลักษณะอาการที่เกิดในมนุษย์ อมนุษย์และสัตว์มี ๓ จำพวก คือ มนุษย์ บัณเฑาะก์  อมนุษย์บัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉานบัณเฑาะก์ (วิ.มหา. ๑/๓๘/๕๐)ในพระวินัยปิฏกไม่ได้แบ่งประเภทบัณเฑาะก์ไว้ มีเพียงพระอถรรถกถาจารย์อธิบายได้แบ่ง
บัณเฑาะก์มี ๕ ชนิดและได้อธิบายลักษณะอาการทั้ง ๕ ประเภทดังนี้คือ (วิ.มหา.อ.  ๖/๑๒๕/๓๐๙-๓๑๐)
.อาสิตตกบัณเฑาะก์ หมายถึง บัณเฑาะก์ใดเอาปากอมองคชาตของชายเหล่าอื่นถูกน้ำอสุจิรดเอาแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป
.อุสุยยบัณเฑาะก์ หมายถึง บัณเฑาะก์ใดเห็นอัชฌาจารของชนเหล่าอื่น  เมื่อความริษยา เกิดขึ้นแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป
.โอปักกมิยบัณเฑาะก์ หมายถึง บัณเฑาะก์ใดมีอวัยวะดังพืชทั้งหลาย ถูกนำไปปราศแล้ว คือ ถูกเขาตอนเสียแล้ว ด้วยความพยายาม
.ปักขบัณเฑาะก์ หมายถึง ส่วนบางคนข้างแรมเป็นบัณเฑาะก์  ด้วยอานุภาพแห่ง อกุศลวิบากแต่ข้างขึ้น ความเร่าร้อนของเขาย่อมสงบไป
.นปุงสกับบัณเฑาะก์ หมายถึง ส่วนบัณเฑาะก์ใด  เกิดไม่มีเพศ  ไม่มีภาวรูปในปฏิสนธิทีเดียว คือ ไม่ปรากฏว่าชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด

            จากลักษณะบุคลิกภาพและการแบ่งประเภทของบัณเฑาะก์ ที่ปรากฏในพระวินัยปิฏกและ อรรถกถา สามารถเทียบเคียงจัดกลุ่มกับลักษณะพฤติกรรมความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันได้ดังนี้

            ๑.กลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มรักร่วมเพศซึ่งประกอบด้วยอาสิตตบัณเฑาะก์และปักขบัณเฑาะก์

            อาสิตตบัณเฑาะก์ สงเคราะห์เข้ากับเกย์ อาจเป็นได้ทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับหรือทั้ง ๒ อย่างก็ได้
            ปักขบัณเฑาะก์ สงเคราะห์แล้วเข้ากับเกย์ควิง เพราะว่าปักขบัณเฑาะก์นี้ ในข้ามแรมเดือนดับในระยะเวลาช่วงนี้ จิตของเขาจะแปรปรวนไปชั่วขณะประมาณ ๑ ปักษ์ (๑๕ วัน) จิตใจของเขาจะแปรปรวนโน้มเอียงค่อนไปทางหญิง กิริยาอาการต่างๆ จะเปลี่ยนไปด้วย แต่พอเป็นปักษ์ขึ้นเดือนหงาย จิตจะสงบลงกลับสู่สภาพเดิม ซึ่งเป็นเรื่องของอกุศลวิบากของการประพฤติล่วงละเมิดภรรยา ชายอื่นในชาติก่อน
            จากลักษณะบุคลิกภาพบัณเฑาะก์ทั้ง ๒ ประเภท ดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ในปัจจุบันกล่าวคือ พฤติกรรมรักร่วมเพศหรือโฮโมเซ็กชวล(Homosexuality)เป็นพฤติกรรมทางเพศระหว่างเพศเดียวกันพบมากที่สุด ในจำนวนพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบน ไปจากลักษณะคนทั่วไปเขาประพฤติกันเกิดได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้ชายมากกว่าหญิงประมาณสามเท่าและสำหรับหญิงมีชื่อเรียกเฉพาะว่า เลสเบี้ยน รักร่วมเพศมี ๒ แบบคือ
            ๑) รักร่วมเพศแท้ หมายถึง พวกที่มีการปฏิบัติทางเพศเฉพาะกับเพศเดียวกัน
            ๒) รักร่วมเพศเทียม หมายถึง พวกที่ปฏิบัติทางเพศทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม         
การปฏิบัติทางเพศของเขาก็เหมือนการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิง ต่างกันตรงที่ไม่ได้ร่วมเพศด้วยองคชาตกับช่องคลอดเท่านั้น ในชายจะเริ่มด้วยการกอดจูบลูบคลำ ใช้ปากและลิ้น หรือมือกับอวัยวะเพศของอีกฝ่ายหนึ่ง และร่วมเพศทางทวารหนัก หรือทางหว่างขาบางราย อาจมีความวิปริตทางเพศอย่างอื่นร่วมด้วยเช่น การพอใจที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บ หรือตัวเองเจ็บ ชอบสะสมเครื่องใช้ บางอย่างของเพศตรงข้าม เช่น ชุดชั้นใน หรือถุงน่อง ชอบแอบดูคนอื่นร่วมเพศกัน หรือชอบร่วมเพศ กับเด็ก (เพศเดียวกัน) บางรายความวิปริตเหล่านี้รุนแรงมากจนถึงเป็น คดีอาชญากรรมก็มี
            รักร่วมเพศชาย หรือเกย์ จะมีบทบาททางเพศ ๓ อย่าง คือ เป็นฝ่ายกระทำเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือแบบผสมแต่การร่วมเพศทางทวารหนัก ค่อนข้างจะมีลักษณะแน่นอนว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายกระทำ หรือฝ่ายถูกกระทำ อย่างไรก็ตาม รักร่วมเพศชายส่วนใหญ่ ชอบมีบทบาททางเพศแบบผสม คือ จะเป็นแบบใดก็ได้ตามที่คู่ของตนแต่ละคนพอใจและมีส่วนน้อยเท่านั้น ที่มีบทบาทเป็นหญิงหรือชายแน่นอน พวกที่ชอบมีบทบาทเป็นหญิงเราเรียกว่า ควีน ลักษณะที่สังเกตได้ คือ ท่าทาง กระตุ้ง กระติ้ง กระชดกระช้อย ซึ่งมักจะมีมากกว่าของหญิงทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ ส่วนอีกพวกหนึ่งที่มีบทบาทเป็นชายเราเรียกว่า เกย์ ลักษณะที่บอกได้ คือ การมีรูปร่างใหญ่ อกหนาและเป็นนักเพาะกาย รูปร่างของพวก เกย์นี้จะช่วยกระตุ้นอารมณ์เพศของคู่ที่ต้องการลักษณะของความเป็นชาย หรือความเป็นพ่อ ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดในวัยเด็ก
            รักร่วมเพศหญิง หรือเลสเบี้ยน จะมีการปฏิบัติทางเพศกับเพศหญิงด้วยกันแต่บทบาทบางเพศของเขามักจะแน่นอนคือ เป็นชายหรือหญิง มักจะมีคู่ที่ถาวรกว่าพวกรักร่วมเพศชายและไม่ค่อยสำส่อนทางเพศ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแยกไปหาคู่ใหม่หรือแต่งงาน อีกฝ่ายอาจเกิดความอิจฉาริษยาอย่างรุนแรงได้ (สุวัทนา  อารีพรรค, ๒๕๓๗)

            ๒.กลุ่มลักเพศหรือกามวิตถารประเภทถ้ำมอง ได้แก่ อุสสุยบัณเฑาะก์
            อุสสุยบัณเฑาะก์ สงเคราะห์เข้ากับลักเพศ เพราะว่าอุสสุยบัณเฑาะก์ ชอบแอบดูคนอื่นร่วมเพศกันเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมด้วย คล้ายกับลักเพศ เพราะอาการสำคัญของลักเพศคือการชอบแสวงหาความตื่นเต้นหรือความสุขจากเพศจากการแต่างกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ของเพศ ตรงข้าม เช่นเสื้อชั้นใน กางเกงใน ถุงเท้า รองเท้า วิกผม ฯลฯ ซึ่งอาจใช้แค่การจินตนาการ หรือใช้เครื่องแต่งกายจริง (พระมหาสักชาย  กนฺตสีโล, ๒๕๕๑: ๑๙)
            คำว่า "ลักเพศ" เป็นคำกริยา ทําหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่น คฤหัสถ์ แต่งตัวปลอมเพศเป็นสมณะ ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง; (ภาษาปาก) ทํานอกลู่นอกทาง เช่น ดื่มนํ้าทางหูถ้วย ความหมายที่เข้าใจกัน "ลักเพศ" คือ
            ๑) ร่างกายเป็นเพศหนึ่ง แต่กิริยาท่าทางและอาการทั่วไปเป็นอีกเพศหนึ่ง
            ๒) ไม่มีสิทธิ์ที่จะครองเพศนั้น แต่เอาเพศนั้นมาครอง
            ๓) หมดสิทธิ์ที่ครองเพศนั้นแล้ว แต่ยังดื้อด้านครองเพศนั้นอยู่

         ทั้งนี้มองกันว่าเสมือนไปลักขโมยเพศของคนอื่นมาเป็นเพศของตนจึงเรียกว่า ลักเพศ แล้วก็เลยอ่านเป็นคำสมาสว่า ลัก-กะ-เพด (ทองย้อย  แสงสินชัย, ๒๕๕๗)
            ความหมายของคำว่าว่า "กามวิตถาร" เป็นคำที่แปลมาจากคำว่า พาราฟิลเลีย (Paraphilia) ซึ่งหมายถึงการเบี่ยงเบนทางเพศ พารา (Para) หมายถึงข้าง ๆ และฟิลเลีย (Philia) หมายถึงเพศ พอใช้คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศหลายๆ คนก็เข้าใจว่าเป็นการรักร่วมเพศ แต่ปัจจุบันมี     การเปลี่ยนมาใช้คำว่า
“กามวิตถาร” แทน ซึ่งหมายถึงอาการผิดปรกติทางจิตใจ โดยทางจิตเวชศาสตร์จัดไว้ในกลุ่มเดียวกับบุคลิกภาพแปรปรวน (Personality Disorder) ถือเป็นโรค (Symptom) ทางจิตอย่างหนึ่งจะพบได้ว่าคำว่า "กามวิตถาร" นั้นมีความหมายถึงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติไปจากสามัญชนส่วนใหญ่โดยอาจจะเป็นด้วยโรคทางจิตอย่างหนึ่ง
            การชอบถ้ำมอง (Voyeurism) คือ การมีความสุขและอารมณ์ตื่นเต้นทางเพศจากการดูผู้อื่น เปลือยกาย กำลังถอดเสื้อผ้าหรือกิจกรรมทางเพศ ลักษณะที่สำคัญ คือการชอบแอบดูผู้อื่นเปลือยกาย กำลังถอดเสื้อ อาบน้ำหรือมีกิจกรรม ทางเพศ ภาพที่เห็นจะเร้าอารมณ์ทางเพศ (สมภพ  เรืองตระกูล, ๒๕๔๖: ๑๒๑)

            ๓.กลุ่มไม่มีสัญลักษณ์ทางเพศ     กลุ่มไม่มีสัญลักษณ์ทางเพศซึ่งประกอบด้วย โอปักกมิยบัณเฑาะก์และนปุงสกบัณเฑาะก์
            โอปักกมิยบัณเฑาะก์ หมายความว่า บุคคลที่ถูกตอนไม่ให้มีความกำหนัดเกิดขึ้น เป็นการตอน ด้วยการผ่าตัดในภายหลังมิใช่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติเช่น พวกขันที
            ขันที  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒)  หมายถึง  ชายที่ถูกตอนประเภทของขันทีนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท
            ๑) ถูกตอนโดยตัดแค่ปลายองคชาตเท่านั้น ยังเหลือพวงอัณฑะอยู่ ขันทีประเภทนี้ยังเหลือฮอร์โมนเพศชายอยู่มากมาย เสียงยังห้าวแบบชาย
            ๒) ถูกตอนโดยตัดทิ้งทั้งพวง เสียงจะแหลมเล็ก ลูกกระเดือกหายไป ฮอร์โมนเพศชายหมดไป พวกนี้จะได้รับความไว้ใจสูงกว่า (wikipedia.org , ๒๕๖๐)
            โอปักกมิยบัณเฑาะก์ สงเคราะห์เข้ากับทรานเซ็กชวล ( แปลงเพศ ) เพราะว่าเมื่อพิจารณาดูคำแปลที่ว่า ผู้มีอวัยวะดังพืชทั้งหลายถูกนำไปปราศแล้ว (คือถูกเขาตอนเสียแล้ว) ด้วยความพยายาม ดังนั้นเมื่อตนเองไม่พอใจในอวัยวะเพศของตน แต่ต้องการอวัยวะเพศตรงกันข้ามกับตนจึงพยายามต้องการจะเปลี่ยนเพศสมัยปัจจุบันการผ่าตัดแปลงเพศนั้นเอง
            นปุงสกบัณเฑาะก์ หมายความว่า บุคคลไม่ปรากฏว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชายมีแต่ช่องที่สำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น
นปุงสกบัณเฑาะก์ สงเคราะห์เข้ากับกระเทยแท้หรือจริง เพราะว่านปุงสกบัณเฑาะก์ คือ เป็นบัณเฑาะก์มาแต่กำเนิดเช่นเดียวกับกระเทยแท้ (พระมหาสักชาย  กนฺตสีโล, ๒๕๕๑: ๑๙)
            กะเทย ตามความหมายทางแพทย์หมายถึง คนที่มีอวัยวะของทั้งผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในคนๆ เดียวกันหรือมีอวัยวะเพศแบบก่ำกึ่งบอกไม่ได้แน่ว่าเป็นผู้หญิงหรือชาย หรือบางอวัยวะเป็นชาย บางอวัยวะเป็นหญิง  ถ้ามีทั้งอวัยวะเพศหญิงและอวัยวะเพศชายอยู่ในคน ๆ เดียวกัน เรียกว่า กะเทยแท้ แต่ถ้าอวัยวะเพศเป็นแบบครึ่งหญิงครึ่งชาย หรือบางอวัยวะเป็นหญิงบางอวัยวะเป็นชายเรียกว่า กะเทย เทียม
            กะเทยแท้ที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่เป็นหมัน มีอวัยวะเพศภายนอกก่ำกึ่ง แต่ก็มักจะดูคล้ายไปทางเพศใดเพศหนึ่ง ที่สำคัญคือมีทั้งอัณฑะและรังไข่ บางคนอาจมีรังไข่ (Ovary) อยู่ข้างหนึ่งของตัวอีกข้างหนึ่งเป็นอัณฑะ (Testis) หรือบางคนมีก้อนตรงตำแหน่งของรังไข่ ซึ่งเมื่อตัดมาศึกษาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์แล้วพบว่าเป็นทั้งเนื้อรังไข่และอัณฑะผสมกัน (Ovotestis)บางคนอาจมีลักษณะของร่างกายภายนอกเป็นหญิงซีกหนึ่ง อีกซีกหนึ่งเป็นชาย แม้แต่หนวดก็งอกเฉพาะซีกของร่างกายที่เป็นผู้ชาย (วิจารณ์  พานิช, ๒๕๔๒)
สรุปได้ว่า ความหลากหลายทางเพศที่ปรากฏในพระวินัยปิฏก พบว่ามีบุคคลที่เรียกว่า บัณเฑาะก์หมายถึงกะเทยมี ๓ ลักษณะคือ
(๑)   กะเทยที่มีพฤติกรรมที่ตรง
(๒)   ข้ามกับเพศของตนประพฤตินอกรีต ในทางเสพกามและมีราคะจัดยั่วยวนให้ชายอื่นให้เป็นเช่นนั้น
(๒) กะเทยแท้ ที่มีอวัยวะเพศทั้งชาย และหญิงมาแต่กำเนิด
(๓) กะเทยที่ถูกตอนหรือขันที
โดยแบ่งประเภทของผู้ที่มีพฤติกรรม ความหลายทางเพศได้เป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ คือ กลุ่มรักร่วมเพศได้แก่ อาสิตตาบัณเฑาะก์และปักขบัณเฑาะก์(เฉพาะปักข์)
กลุ่มที่ ๒ คือ กลุ่มกามวิตถารหรือถ้ำมองได้แก่ อุสุยยบัณเฑาะก์
กลุ่มที่๓ คือ กลุ่มไม่ปรากกฏเพศไม่มีสัญลักษณ์ทางเพศหรือมี ๒ เพศในคนคนเดียวกันได้แก่ โอปักกมิยบัณเฑาะก์และนปุงสกับบัณเฑาะก์

ท่าทีพระพุทธศาสนาต่อการห้ามบัณเฑาะก์อุปสมบท
           
สำหรับประเด็นบัณเฑาะก์กับการบวชนั้นพบว่า ในช่วงระยะแรกพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามบัณเฑาะก์บวช แต่ในระยะต่อมาปรากฏว่าการเข้ามาบวชของบัณเฑาะก์ทำให้สงฆ์ได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์เชิงตำหนิจากสังคมมาก ทำให้ภาพลักษณ์ของสงฆ์ซึ่งเป็นชุมชนที่ยังใหม่มาก สำหรับอินเดียในยุคนั้นและเป็นชุมชนแห่งผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้รับความมัวหมอง (พระมหาอดุลย์ ยโสธโร, ๒๕๔๙: ๑๔๔) บัณเฑาะก์จึงถูกห้ามอุปสมบทในที่สุดอย่างไรก็ดีในอรรถกถาชื่อกุรุนที(วิ.มหา.อ.๖/๑๒๕/๓๑๐) แก้ว่า  ในบัณเฑาะก์    ชนิดนั้น อาสิตตาบัณเฑาะก์และอุสุยยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา ๓ ชนิดนอกนี้ห้ามแม้ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนั้น สำหรับปักขบัณเฑาะก์  ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์   ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น ก็ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนี้ บัณเฑาะก์ใดทรงห้ามบรรพชา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายเอาบัณเฑาะก์นั้นตรัสคำนี้ว่า "อนุปสมฺปนฺโน  นาเสตพฺโพบัณเฑาะก์แม้นั้นภิกษุพึงให้ฉิบหาย ด้วยลิงคนาสนาทีเดียวเบื้องหน้าแต่นี้ แม้ในคำที่กล่าวว่าพึงให้ฉิบหายก็มีนัยนี้เหมือนกัน” สำหรับบัณเฑาะก์กับบทบัญญัติทางพระวินัยพบว่า พระวินัยห้ามภิกษุเข้าไปมีความสัมพันธ์กับบัณเฑาะก์ทั้งโดยตรงเป็นต้นว่า เสพเมถุนธรรมหรือพูดจาเกี้ยวพาราสีและโดยอ้อมเป็นต้นว่า ถูกเนื้อต้องตัวบุรุษหรือสตรี แต่กลับสำคัญมั่นหมายว่าเป็นบัณเฑาะก์ถือว่ามีโทษทางพระวินัย สำหรับสิกขาบทที่เกี่ยวกับบัณเฑาะก์ส่วนมาก เป็นความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ มีการปรับอาบัติแก่ภิกษุที่มีความสัมพันธ์กับบัณเฑาะก์ตั้งแต่ขั้นเบา คือ ปรับอาบัติทุกกฏ จนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดคือปรับอาบัติ ปาราชิก (พระมหาอดุลย์  ยโสธโร, ๒๕๔๙: ๑๔๕) 
สรุปได้ว่าบัณเฑาะก์มี ๓ ประเภทที่ห้ามอุปสมบท คือ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ นปุงสกับบัณเฑาะก์ และปักขบันเฑาะก์ (ห้ามอุปสมบทแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น) ส่วนอาสิตตาบัณเฑาะก์และอุสุยยบัณเฑาะก์ก์ไม่ห้ามอุปสมบท  ในกรณีของบัณเฑาะก์สองประเภทที่ว่า บวชได้นั้นหมายถึง เป็นบัณเฑาะก์ก็แต่เมื่อก่อนบวช แต่เมื่อมาบวชแล้วต้องรักษาวินัยและสละความประพฤติเบี่ยงเบนนั้นออกให้หมด

บรรณานุกรม

กรมศาสนา. พระไตรปิฏกภาษาไทยฉบับหลวง. (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์การศาสนา), ๒๕๒๕.

พระอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย,  คู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค ( มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย),๒๕๕๘.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. ( กรุงเทพมหานคร:
            นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์), ๒๕๔๒.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  วิสุทธิมรรคแปล ภาค ตอน ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย.
         (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย),๒๕๓๑.

มหามกุฏราชวิทยาลัย.  พระไตรปิฏกพร้อมอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม.  (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
            มหามกุฏราชวิทยาลัย), ๒๕๓๗.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.
(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เพ็ทแอนด์โฮม จำกัด),๒๕๕๙.

ปณิธี  บราวน์. บทความความหลากหลายทางเพศกับพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย คณะสังคมวิทยา
และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ บทความวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ : ๔๔ ฉบับที่  ๒ ,๒๕๕๗.

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี  สุรเตโช).  ๒๕๕๖.  ราชบัณฑิตและเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม
http://www.komchadluek.net/news/detail/15968, ( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

พีรพร  พงศ์พิพัฒนพันธุ์. ศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์กับการประพฤติพรหมจรรย์ใน
         พระพุทธศาสนา.  วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา,๒๕๕๖.

ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์.  2551.  ประวัติศาสตร์ของเพศวิถีประวัติศาสตร์เรื่องเพศ/เรื่องเพศ
         ในประวัติศาสตร์ไทย.

จเร  สิงหโกวินท์.  ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพและเพศวิถีศึกษา อาจารย์คณะภาษาและ
การสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สัมภาษณ์กับทีมข่าว New Media PPTV HD” (Online).  https://www.pptvthailand.com/news/ไลฟ์สไตล์/14275,( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

สุธาดา  เมฆรุ่งเรืองกุล.  ๒๕ คำนิยามเศัพท์ ที่เกี่ยวกับเรื่อง “ความเสมอภาคระหว่างเพศ”,
            ๒๕๕๔.

ธันนิกานต์  สูญสิ้นภัย. ปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้ผู้หญิงเป็นหญิงรักหญิงในกรุงเทพมหานคร.      
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖.
ปิยรัตน์  มาร์แต็ง. แนวทางการให้การศึกษาเพื่อความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนรักเพศเดียวกัน.  วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

อุดมศิลป์  ศรีแสงนาม.  เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ผิดเพศ (Online). https://www.doctor.or.th/article/detail/4982, ( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

จิราภรณ์  อรุณากูร.  เพศความหลากหลายในวัยรุ่น(Online)        http://med.mahidol.ac.th/atrama/issue016/backstage,( สืบค้นเมื่อวันที่
            กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

กฤตยา  อาชวนิจกุล.“เพศวิถีที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย Sexuality Transition in
            Thai Society”.  วารสารประชากรและสังคม, ๒๕๕๔ หน้า ๔๓-๖๕.

สุนทร  ณ รังษี.  พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฏก.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์
            มหาวิทยาลัย), ๒๕๔๓.

สุวัทนา  อารีพรรค.  กะเทยลักเพศและรักร่วมเพศ (Online).
            https://www.doctor.or.th/article/detail/5237, ( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

พระมหาสักชาย  กนฺตสีโล.  การศึกษาวิเคราะห์เรื่อง“บัณเฑาะก์” ในกลุ่มพระภิกษุสามเณรไทย
         ในปัจจุบัน.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ทองย้อย  แสงสินชัย.  บาลีวันละคำ (,๑๗๑) ลักเพศ (Online).
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/915606918533046, ( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

สมภพ  เรืองตระกูล. ความผิดปกติทางเพศ ( กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์), ๒๕๖๑.

วิจารณ์  พานิช.  จะให้เป็นผู้หญิงก็โตไปจะให้เป็นผู้ชายก็เล็กไปเฮ้อ! (Online).            https://www.doctor.or.th/article/detail/6707,( สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

พระมหาอดุลย์  ยโสธโร. การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องบัณเฑาะก์กับการบรรลุธรรม.       วิทยานิพนธ์
พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา, มหาวิทยลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย), ๒๕๕๐.

Chaplin,J.P.  ( ๑๙๗๕) Dictionary of Psychology ( New York:Dell Publishing co) ( สืบค้น

เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มหาภูตรูปตามทัศนะทางปรัชญา

การตีความตามหลักเทศนาหาระเรื่อง “ปัญญาในพุทธปรัชญา”