มหาภูตรูปตามทัศนะทางปรัชญา

มหาภูตรูปตามทัศนะทางปรัชญา
บทนำ
         ธาตุธรรมชาตินั้นเป็นคำตอบของนักปรัชญาคนแรกของโลกในยุคกรีกโบราณที่ชื่อ ธาเลส โดย ธาเลส เริ่มวิธีการทางปรัชญาด้วยคำถามที่ว่า อะไรคือปฐมธาตุ ( Arche ) ของโลก โลกเกิดจากอะไร เขาได้เสนอทรรศนะเรื่องปฐมธาตุของโลกว่า "น้ำเป็นปฐมธาตุของโลก" โลกเกิดจากการรวมตัวของสสารดั้งเดิมสุด (Prime Matter) สสารนั้นจึงเป็นวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดโลก มันมีอยู่ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด น้ำจึงเป็นธาตุดั้งเดิมหรือปฐมธาตุ (First Element) ของโลก ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่มีอนุภาคเล็กที่สุดจนแบ่งย่อยออกไปอีกไม่ได้ โลกและสรรพสิ่งเกิดมาจากน้ำ และจะกลับคืนไปสู่สภาพของน้ำ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต, ๒๕๕๒: ๔๑) จากการเริ่มต้นคำตอบที่ว่า น้ำ เป็นปฐมธาตุของโลก นักปรัชญาลำดับต่อมาต่างก็ให้ความสนใจเรื่องธาตุธรรมชาติโดยมี เฮราคริตุส (Heraclitus) ให้ข้อคิดเห็นว่าไฟเป็นธาตุแท้ของสรรพสิ่ง, อะแนกซิมีเนส (Anaximenes ) เห็นว่าอากาศเป็นธาตุดั้งเดิมหรือปฐมธาตุ, เซโนฟาเนส ( Xenophanes ) กล่าวว่า ดินเป็นปฐมธาตุของสรรพสิ่ง ทุกสิ่งมาจากดินและทุกสิ่งจะกลับเป็นดินอีก ( ฟื้น ดอกบัว, ๒๕๕๕  : ๔๗-๖๔ ) คำตอบเรื่องธรรมชาติจึงเป็นจุดเปลี่ยนของปรัชญากรีก ทั้งวิธีคิดและลักษณะการได้มาซึ่งความรู้ของมนุษย์เริ่มขึ้นในยุคของนักปรัชญาธรรมชาติ (Natural Philosopher) โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงที่มาของสรรพสิ่ง การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง การตั้งคำถามและการแสวงหาคำตอบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดวิธีการแบบใหม่ที่มนุษย์ใช้ในการแสวงหาความรู้ จากเดิมที่ความรู้เป็นสิ่งที่อยู่ในมือของเทพเจ้า ในยุคของนักปรัชญาธรรมชาติพวกเขาได้นำเอาความรู้ให้มาอยู่ในกำมือของมนุษย์ได้สำเร็จ
            นอกจากปรัชญาตะวันตกที่เห็นว่าธาตุธรรมชาติเป็นปฐมธาตุของโลกแล้ว ในด้านปรัชญาตะวันออก มุ่งแสวงหาความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิตเช่นเดียวกับปรัชญาตะวันตกแต่มีข้อแตกต่าง ที่สำคัญคือ  ปรัชญาตะวันออกส่วนใหญ่เป็นปรัชญาชีวิต มุ่งรู้แจ้งตนเองก่อนแล้วจึงศึกษาให้รู้สิ่งนอกตัวภายหลัง แต่ถึงกระนั้นก็ตามเนื้อหาและคำอธิบายทั้งทางปรัชญาและศาสนาต่างให้ความสำคัญกับธาตุธรรมชาติเป็นแนวคิดหลัก  โดยปรัชญาอินเดียมักจะกล่าวถึงธาตุธรรมชาติในแง่ที่เป็นองค์ประกอบของการเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง พระเจ้าหรือสิ่งที่มีอยู่นั้นได้รวบรวมธาตุธรรมชาติเพื่อสร้างโลก และในปรัชญาจีน ก็มักจะกล่าวถึง........

            จากแนวคิดเรื่องธาตุธรรมชาติตามทัศนะทางปรัชญานั้น มีผลต่อการดำเนินชีวิต จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต วิธีการปฏิบัติต่อสรรพสิ่งในโลกและที่สำคัญแนวคิดเรื่องธาตุธรรมชาติเป็นบ่อเกิดแห่งศาสตร์ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมาย ในบทความนี้จะนำแนวคิดเรื่องธาตุธรรมชาติหรือมหาภูตรูป ทั้งแนวคิดทางตะวันและตะวันออก เพื่อหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วสรรพสิ่งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยมหาภูตรูปหรือไม่ อย่างไร เนื่องด้วยมนุษย์นั้นอิงอาศัยธรรมชาติในการดำรงแห่งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย การทำความเข้าใจเรื่องมหาภูตรูปนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

มหาภูตรูป
            จากหัวข้อเรื่องมหาภูตรูปตามทัศนะทางปรัชญานั้นในเบื้องต้นนี้ จะขอให้นิยามคำว่า “มหา ภูตรูป”
            มหาภูต   รูปใหญ่,รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช และวาโย ที่เรียกกันให้ง่ายว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ภูตรูป ก็เรียก มหาภูตรูปบ้างก็มี ( ป.อ. ปยฺตฺโต, ๒๕๕๙ : ๓๐๕ )
            ภูตะหรือภูต หมายถึง เป็นหรือมีหรือเกิดแล้ว
            มหาภูตรูป  คือ ธาตุทั้ง ๔  ได้แก่  ดิน ไฟ น้ำ และลม ( ป.หลงสมบูญ, ๒๕๔๐: ๕๖๘)
            ธาตุ  สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่เองตามธรรมดาของเหตุปัจจัย ธาตุ ๔ คือ
๑.    ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่เรียกสามัญว่าธาตุ แข้นแข็งหรือธาตุดิน
๒.    อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบดูดซึม เรียกสามัญว่าธาตุ ธาตเหลวหรือธาตุน้ำ
๓.    เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ
๔.    วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้เคลื่อนไหว เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ป.อ. ปยฺตฺโต,๒๕๕๙ : ๑๕๔ )

จากนิยามความหมายดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า มหาภูตรูป หมายถึง    ธาตุดั้งเดิมที่ทรงสภาวะของ
มันอยู่เองตามธรรมดาประกอบด้วย ๔ ธาตุคือ ดิน ไฟ น้ำ และลม จึงกล่าวได้ว่า มหาภูตรูป เป็นธาตุธรรมชาติ

แนวคิดเรื่องมหาภูตรูปในปรัชญาตะวันตก
            ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะเทพเจ้าบันดาล กาลต่อมาชาวกรีกเริ่มมีความคิดว่า เหนือเทพเจ้ายังมีธรรมชาติซึ่งคอยควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างตลอดถึงเทพเจ้าด้วย เพราะเทพเจ้าบันดาลอะไรให้เกิดขึ้นได้ก็ต้องให้อยู่ภายในกฎธรรมชาต ไม่สามารถบันดาลสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ เช่น เพทจะบันดาลให้น้ำท่วมก็ต้องบันดาลให้มีเมฆมีลมมีฝนเสียก่อนจึงจะมีน้ำท่วมได้ ไม่ใช่บันดาลให้น้ำท่วมได้ทันทีทันใด แสดงว่าเทพเจ้าจะต้องรู้กฎแห่งธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ เอกภพคงต้องมีกฎเกณฑ์ของตนเองคอยควบคุมสิ่งต่าง ๆ โลกจึงเป็นไปอย่างมีระเบียบ ( Cosmos ) ไม่ใช่ไร้ระเบียบ ( Chaos ) ถ้ามนุษย์สามารถรู้กฎของโลกได้ ก็จะสามารถบันดาลหรือควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้เช่นกัน ไม่จำต้องอาศัยเทพ แต่จะทำอย่างไรจึงจะรู้กฎธรรมชาติได้ การที่จะรู้กฎธรรมชาติได้อย่างถ่องแท้ ก็จะต้องรู้ถึงปฐมธาตุดั้งเดิมของโลกเสียก่อน แล้วจึงค่อยขยายความรู้ออกไป แต่ปัญหามีว่าอะไรเป็นปฐมธาตุของโลก ( ฟื้น ดอกบัว, ๒๕๕๕  : ๔๐)
ธาตุน้ำ 
ธาเลส (Thales 624 - 550 B.C.) เป็นนักปรัชญาคนแรกของโลกที่เสนอว่า น้ำเป็นปฐมธาตุของโลก ปฐมธาตุหรือธาตุดั้งเดิมของจักรกวาลคือน้ำ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายไม่ว่มนุษย์ สัตว์ ตลอดจนถึงติณชาติและรุกขชาติทุกชนิดจะมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะอาศัยน้ำ  ถ้าขาดน้ำก็ตาย แม้ในร่างกายของคนและสัตว์ ตลอดถึงลำต้นของต้นไม้ใบหญ้า ก็มีน้ำปะปนอยูไม่น้อย ถึงในสิ่งที่ไร้ชีวิต เช่น ก้อนดิน เป็นต้น ก็มีน้ำอยู่ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างนับตั้งแต่หินซึ่งเป็นของแข็งที่สุด จนถึงอากาศซึ่งเบาที่สุดล้วนแต่ประกอบด้วยน้ำทั้งสิ้น ตลอดถึงความร้อนก็ยังมีความชื้นแฝงอยู่ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมาจากน้ำ และเมื่อแตกสลายแล้วก็จะกลับมารวมเป็นน้ำอีก เป็นวัฏฏะหรือหมุนเวียนเปลี่ยนเป็นอย่างนี้เรื่อยไป น้ำเมื่อเย็นจัดก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อถูกความร้อนก็จะกลายเป็นน้ำธรรมดา น้ำธรรมดาเมื่อถูกความร้อนมากๆ ก็จะกลายเป็นไอ และไอจะกลายเป็นเมฆเป็นฝนตามลำดับ ธาเลส เชื่อว่าโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นแผ่นดินลอยอยู่บนน้ำ ( ฟื้น ดอกบัว, ๒๕๕๕  : ๔๒)

ธาตุไฟ
เฮราคลีตุส (Heraclitus 535 - 475 B.C.) กล่าวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเลื่อนไหลไปเป็นกระแส” ดุจดังสายน้ำในลำธารที่นับวันจะแต่จะไหลไปอย่างไม่มีวันหยุดนิิ่ง ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้คงที่แม้ชั่วเวลาอันสั้น เฮราคลีตุส อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างคมคายว่า “ท่านไม่สามารถก้าวลงในแม่น้ำสาย เดียวกันได้ถึงสองครั้ง เพราะน้ำใหม่ไหลมาที่ตัวเราตลอดเวลา” เพราะเมื่อเราขึ้นจากแม่น้ำยืนบนฝั่ง น้ำเฉพาะตรงที่ที่เราก้าวลงแม่น้ำเป็นครั้งแรกได้ไหลเลยไปน้ำใหม่ไหลมาแทนที่ เมื่อเราก้าวลงแม่น้ำเป็นครั้งที่สอง น้ำที่สัมผัสกายเราจึงไม่ใช่น้ำเก่า สภาพของแม่น้ำตรงนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว  เฮราคลีตุสไม่เห็นด้วยที่ว่า น้ำและอากาศเป็นปฐมธาตุของโลก ตามทัศนะของเฮราคลีตุส สรรพสิ่งมีธรรมชาติเปลี่ยนแปลง สิ่งใดจะเป็นปฐมธาตุของโลก สิ่งนั้นต้องมีพลังเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เนื่อง จากว่าไฟมีพลังเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ไฟจึงเป็นปฐมธาตุของโลก เฮราคลีตุสกล่าวว่า “ โลกนี้ ซึ่งเป็นโลกเดียวกันสำหรับทุกคน ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดหรือมนุษย์คนใดสร้างขึ้นมา แต่ทว่าโลกนี้ได้เป็นกำลังเป็นและจักเป็น ไฟอมตะ”        
เปลวไฟนั้นเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ประเดี๋ยวริบหรี่ ประเดี๋ยวเรืองรอง บางครั้งลุกโพลงแต่บางคราวมอดลง ไฟกองเดียวกัน แต่มีลักษณะแปรปรวนเปลี่ยนได้หลายอย่าง นี่คือเหตุให้เฮราคลีตุสอกล่าวว่า ไฟมีธรรมชาติเปลี่ยนแปลงง่าย ไฟเป็นธาตุดั้งเดิมของโลก เพราะไฟแปรรูปเป็นสรรพสิ่ง โดยระยะแรก ไฟแปรรูปเป็นลม จากลมเป็นน้ำ จากน้ำเป็นดิน นี่เป็นการแปรรูปแบบทางลง ( Downward Path ) นอกจากนี้ ดินอาจแปรรูปกลับเป็นน้ำ จากน้ำเป็นลม และจากลมเป็นไฟ เฮราคลีตุส  เรียกการแปรรูปชนิดนี้ว่า ทางขึ้น ( Upward Path ) ท่านยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อไฟแปรรูปเป็นสรรพสิ่งแล้วก็ไม่สิ้นสภาพความเป็นไฟ สรรพสิ่งล้วนเป็นไฟที่เปลี่ยนรูปภายนอกเท่านั้น เมื่อว่าโดยแก่นแท้ ดินคือ ไฟ หินคือไฟ วิญญาณคือไฟ และพระเจ้า (God) ก็คือไฟ รวมความว่าทุกสิ่งคือ ไฟ และไฟคือทุกสิ้ง เหตุนั้น เฮราคลีตุสจึงกล่าวว่า “ทุกสิ่งกลายเป็นสิ่งเดียว และสิ่งเดียวกลายเป็นทุกสิ่ง )น้ำ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต, ๒๕๕๒: ๖๒-๖๓ )         

ธาตุดิน  น้ำ ลม ไฟ
เอมเปโดเคลส (Empedocles 495 - 435 B.C.) มีทัศนะว่า โลกเกิดจากการผสมกันของปฐมธาตุเหล่านั้น คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อปฐมธาตุรวมตัวกันหรือแยกจากกัน เราก็บอกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวเท่านั้นเอง การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการที่ปฐมธาตุโยกย้ายตำแหน่ง แต่ปฐมธาตุเองไม่ได้เปลี่ยนแปลง คุณสมบัติเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้น เมื่อมองไปที่สรรพสิ่งซึ่งเกิดจากการรวมตัวของปฐมธาตุ เราจะพบความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นด้วยปฐมธาตุซึ่งเป็นส่วนประกอบโยกย้ายตำแหน่ง แต่พอมองไปที่ตัวปฐมธาตุเราไม่พบความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ปฐมธาตุไม่มีการเกิดไม่มีดับใครทำลายไม่ได้ เหมือนกับคำกล่าวปัจจุบันที่ว่า สสารไม่สูญหายไปจากโลก เอมเปโดเคลส จึงย้ำว่า เมื่อมองไปที่ปฐมธาตุ เราจะพบความเที่ยงแท้คงที่ แต่เมื่อมองไปที่สิ่งต่าง ๆ อันเกิดจากการผสมของปฐมธาตุ เราจะพบความเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น โลกจึงทั้งเปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลง คำตอบที่ว่า น้ำ อากาศ ไฟ นั้นเป็นปฐมธาตุของโลก เอมเปโดเคลส พิจารณาดูคำตอบเหล่านั้นพบว่า ไม่มีคำตอบของใครเป็นที่พอใจ ท่านมีความเห็นว่า ปฐมธาตุของโลกไม่ควรจะมีอย่างเดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะต้องเกณฑ์ให้น้ำแปรรูปเป็นไฟหรือดิน ซึ่งเป็นเรื่องสุดวิสัยที่น้ำจะแปรรูปเป็นไฟ หรือไฟจะแปรรูปเป็นน้ำ ปฐมธาตุของโลกจึงไม่ใช่ไฟอย่างเดียวหรือน้ำอย่างเดียว ปฐมธาตุควรมีมากกว่าหนึ่งอย่างและแล้วเอมเปโดเคลส ก็เสนอว่า ปฐมธาตุมีอยู่ 4 อย่างด้วยกันคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ธาตุทั้ง 4 นี้เป็นความจริงสูงสุดเท่า ๆ กัน ต่างมีอยู่อย่างเป็นอิสระจากกันและกัน โลกและสรรพสิ่งเกิดมีขึ้น เพราะการรวมตัวของธาตุ 4 นี้ โลกและสรรพสิ่งแตกสลาย เพราะธาตุ 4 แยกตัวออกจากกัน แต่เนื่องจากธาตุเหล่านี้เป็นสสารไร้ชีวิต ทั้งปราศจากพลังเคลื่อนไหวในตัวเอง ลำพังธาตุทั้ง 4 เอง จะไม่อาจรวมเข้าหากันหรือผละห่างจากกัน ปัญหาจึงเกิดตามมาว่า อะไรเป็นตัวการคอยรวมและแยกธาตุเหล่านั้น เอมเปโดเคลสตอบว่า มีพลังงานในธรรมชาติสองชนิดคอยทำหน้าที่ดังกล่าว พลังแรกทำหน้าที่รวมธาตุ 4 เข้าด้วยกันมีชื่อว่า ความรัก ( Love ) พลังที่ 2 ทำหน้าที่แยกธาตุทั้ง 4 ออกจากกัน มีชื่อเรียกว่า ความเกลียด ( Hate ) พลังทั้งสองนี้เองที่เป็นตัวการคอยรวมและแยกธาตุทั้ง 4 พลังเหล่านี้ไม่ใช่กระแสจิตของพระเจ้า แต่เป็นพลังธรรมชาติที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพลังแม่เหล็กอันไร้ชีวิต แต่เป็นพลังธรรมชาติดที่มีลักษณะเช่นเดียวกันพลังแม่เหล็กอันไร้ชีวิต พลังทั้ง2 นี้เป็นผู้สร้างและทำลายโลก ถ้าปราศจากพลังเหล่านี้ ธาตุทั้ง 4 อันเป็นสสารที่มืดบอด จะลอยคว้่างไปคนละทิศละทาง และจะไม่รวมตัวกันเป็นสรรพสิ่งในโลก
ต่อข้อสงสัยที่ว่า ธาตุทั้ง 4 รวมตัวกันเป็นโลกครั้งแรกสุดเมื่อใด เอมเปโดเคลสบอกว่า ไม่มีคำตอบให้ เพราะการเกิดดับของโลกมีอยู่เป็นกระบวนการ ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบ แต่เพีื่อจะอธิบายกำเนิดของโลก เอมเปโดเคลสเห็นว่าเราจำเป็นต้องจับเอาตอนใดตอนหนึ่งสายโซ่แห่งสังสารวัฏของโลกขึ้นมาพูด และท่านจับเอาตอนที่ว่าธาตุทั้ง 4 ถูกพลังความรักจับมารวมกันแนบสนิทจนกลายเป็นก้อนกลม ๆ ทุก ๆ ส่วนของรูปทรงกลมนี้ต้องมีดิน น้ำ ลม ไฟ เท่า ๆ กัน น้ำไม่ได้แยกจากลม ทั้งลมไม่ได้แยกจากดิน ธาตุทั้ง 4 รวมตัวกันอย่างไร้ระเบียบ ในช่วงที่ธาตุทั้งหลายรวมตัวกันแนบสนิทนี้สรรพสิ่งในโลกเกิดไม่ได้ เพราะธาตุเหล่านั้นผสมปนเปกันจนยุ่งไปหมด จึงยังไม่มีสิ่งใด ๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือภูเขา จะมีก็แต่รูปทรงกลมมหึมาที่มีความรักเป็นกลไกให้เกิดการเกาะตัวเป็นก้อน ระยะนี้ความเกลียดหมดอำนาจจึงต้องออกไปอยู่นอกทรงกลมและพอได้โอกาส ความเกลียดจะแทรกตัวทะลุฟื้นผิวทรงกลม แล้วพุ่งเข้าสู่จุดศูนย์กลางของทรงกลมนั้น ความเกลียดยึดที่มั่นได้แล้วก็ค่อย ๆ แผ่อำนาจไล่ความรักออกไป ธาตุทั้ง 4  เริ่มถูกแยกออกจากกัน นี่แหละที่สรรพสิ่งในโลกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา โลกยุคปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงกึ่งกลางนี้
ต่อไปภายหน้าความเกลียดจะประสบชัยชนะขั้นเด็ดขาด ธาตุทั้ง 4 จะถูกจับแยกออกจากกันและกัน ดินไปอยู่ส่วนดิน น้ำไปอยู่ส่วนน้ำ โลกถึงกาลแตกสลาย เพราะส่วนประกอบของโลกแยกตัวออกไปเสียแล้ว แต่ธาตุทั้ง 4 จะแยกจากกันเด็ดขาดอย่างนี้ไม่ได้นาน เพราะความรักคอยรอโอกาสอยู่ พอถึงช่วงน้ั้น ความรักจะแทรกตัวเข้ามารวมธาตุ 4 เข้าด้วยกัน จนเป็นทรงกลมดังเดิม กระบวนการสร้างโลกเริ่มต้นใหม่และเป็นไปซ้ำรอยเดิม คือพอความรักรวมธาตุ 4 เป็นก้อนกลม ความเกลียดจะแทรกตัวเข้าไปแยกธาตุอีก สลับกันอย่างนี้เรื่อยไปไม่รู้จบ ควรตะหนักว่าในเวลาที่ธาตุ 4 รวมกันสนิทหรือแยกจากกันเด็ดขาด จะไม่มีสรรพสิ่งในโลกดังที่เห็นในปัจจุบันสิ่งทั้งหลายเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราพบเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็เฉพาะในช่วงเวลากึ่งกลาง คือตอนที่ธาตุ 4 ยังรวมตัวกันไม่สนิทหรือแยกจากกันไม่เด็ดขาด
ร่างกายของคนเราเกิดจากการรวมตัวของธาตุทั้ง 4 การที่เรารู้จักธาตุ 4 ในโลกรอบ ๆ ตัวเราได้ ก็เพราะมีธาตุทั้ง 4 อยู่ในตัวเราก่อนแล้ว เพราะเรามีธาตุดิน เราจึงเห็นดิน เนื่องจากอนุภาคของธาตุดินในวัตถุมาทำปฏิกิริยากับธาตุดินในดวงตาของเรา จึงเกิดเป็นจินตภาพดินขึ้นมา โดยนัยนี้ เพราเรามีธาตุน้ำ เราจึงเห็นน้ำ เพราะเรามีธาตุไฟ เราจึงเห็นไป นี่คือเหตุให้เอมเปโดเคลส กล่าวว่า “สิ่งที่เหมือนกันย่อมรู้กัน” (ประยูร ธมฺมจิตฺโต, ๒๕๕๒: ๙๑-๙๔ )         



            นักปรัชญากรีกสมัยเริ่มต้นสนใจปัญหาปรัชญา ว่าอะไรคือสาระ หรือแก่นแท้ของสรรพสิ่ง โดยพยายามตอบปัญหาว่าอะไรคือ ปฐมธาตุหรือแก่นแท้ของโลก

แนวคิดเรื่องมหาภูตรูปในปรัชญาตะวันออก

ปรัชญาอินเดีย
ในปรัชญาอินเดียอุดมไปด้วยความคิดและมีความแตกตางกันในทางปฏิบัติมากมาย แต่อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะหรือ 2 กลุ่มคือ
            -  อาสติกะ ได้แก่ กลุ่มความคิดที่มีบ่อเกิดจากพระเวทหรือยมรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวทเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวกในจารีต ได้แก่ปรัชญา 6 ระบบของอินเดีย
            -  นาสติกะ ได้แก่ พวกที่ไม่ได้มีบ่อเกิดจากพระเวท ไม่ยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท และเป็นความคิดที่ต่อต้านพระเวท ได้แก่ พุทธปรัชญา ปรัชญาเชน และลัทธิจารวาก  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวกนอกรีต

ปรัชญาไวทานตะ

ปรัชญาจารวาก
         ปรัชญาจารวาก (Charavaka) เป็นสำนักปรัชญาสสารนิยม หรือวัตถุนิยมโดยแท้ โดยถือว่า วัตถุหรือสสารเท่านั้นที่มีอยู่จริง นอกจากนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มี โลกประกอบด้วยวัตถุธาตุ 4 อย่างคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม (ปรัชญาอินเดียสำนักอื่น ๆ ส่วนมากจะบอกว่า โลกประกอบด้วยวัตถุธาตุ 5 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ) เพราะวัตถุธาตุทั้ง 4 นี้เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย

วัตถุธาตุทั้ง 4 ผสมหรือรวมกันเองโดยบังเอิญ ไม่มีใครสร้างหรือไม่มีอำนาจเหนือธรรมชาติมาบังคับให้รวมตัวกัน การรวมตัวกันดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดผลตามมา 2 อย่างคือ
การรวมตัวทำให้เกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา เช่น พืช ต้นไม้ คน สัตว์ เป็นต้น
การรวมตัวทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น แผ่นดิน ก้อนหิน เป็นต้น


พุทธปรัชญา
            ตามทัศนะของพุทธปรัชญา มีทัศนะว่ามนุษย์ประกอบจึงประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ ลักษณะทางกายภาพที่เรียกว่ารูปและลักษณะทางจิตภาพเรียกว่า นาม  รูปและนามทั้ง 2 ส่วนนั้นเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ขันธ์ 5  หมายถึงกองแห่งรูปและนามธรรม 5  หมวดที่ประชุมเข้ากันเป็นหน่วย รวมซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาเป็นต้น ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต ได้แก่ 1.รูปขันธ์ ส่วนที่เป็นร่างกาย 2.เวทนาขันธ์ ส่วนที่เป็นความรู้สึก สุข ทุกข์และเฉย ๆ 3.สัญญาขันธ์ ส่วนที่ทำให้ จำอารมณ์ของ สุข ทุกข์และเฉย ๆ ได้ 4.สังขารขันธ์ ส่วนที่เป็นความปรุงแต่งไปในทาง สุข ทุกข์ และเฉย ๆ  5.วิญญาณขันธ์ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งในอารมณ์ต่าง ๆ  ฉะนั้นมนุษย์ตามทัศนะพุทธปรัชญาจึงประกอบด้วยรูปกับนามหรือขันธ์ 5
            คำว่ารูป หมายถึง ธรรมชาติที่เสื่อมสลายไปด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึก มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น รูปได้แก่ รูปขันธ์ (ปัญญา  ใช้บางยาง, 2548: 115) รูปขันธ์ซึ่งเป็นลักษณะมนุษย์ทางกายภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.     มหาภูตรูป 4 พุทธปรัชญากล่าวว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 4 ที่เรียกว่า มหาภูตรูป 4 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) และวาโยธาตุ (ธาตุลม)  มหาภูตรูป 4 เป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานที่รวมตัวเกาะกลุ่มกันอย่างถูกส่วนตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติจนกระ ทั่งปรากฏ เป็นเป็นรูปขันธ์ของมนุษย์
2.     อุปาทายรูป 24 ตามทัศนะของพุทธปรัชญา  ร่างกายของมนุษย์นอกจากจะประกอบด้วย มหาภูตรูปหรือธาตุหลัก 4 ชนิดดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วยอุปทายรูป หรือรูปที่อ้างอิงอาศัยอยู่ กับมหาภูตรูป 4 อีก 24 ชนิด สิ่งที่เรียกว่าอุปาทายรูปนี้ได้แก่ สมบัติคุณลักษณะและอาการของมหาภูตรูปที่ประชุมกัน ในสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วปรากฏเป็นร่างกาย ของมนุษย์นั่นเองอุปทายรูป 24 ได้แก่ (สุนทร  ณ รังษี, 2541: 119)
            ในบทความนี้จะกล่าวเฉาพะ มหาภูตรูป อัหมายถึง รูปที่เป็นใหญ่และปรากฏชัดเจน ดังมีวจนัตถะ แสดงว่า อุปาทินฺนฺนานุปาทินฺนสนฺตาเนสุ สลกฺขขณโต สสมฺภารโต จ มหนฺตานิ หุตฺวา ภวนฺติ ปาตุภานฺตีติ = มหาภูตรูป รูปเหล่าใด เป็นใหญ่และปรากฏชักเจนโดยลักษณะของตน และโดยสัณฐานของตน ในสันดานแห่งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ฉะนั้น รูปเหล่านั้นชื่อว่า มหาภูตรูป มหาภูตรูปมี 4 คือ 1. ปถวี 2.อาโป 3.เตโช 4. วาโย
1)     ธาตุดิน (ปถวีธาตุ ) มีลักษณะแข็ง คือ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาภูตรูปที่เหลืออีก 3 แล้ว
ปถวีธาตุมีลักษณะแข็ง ถ้าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีปถวีมากเป็นประธานแล้ว ลักษณะแข็งนี้ก็ปรากฏมาก เช่น เหล็ก หิน ไม้ เป็นต้า ถ้าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีปถวีธาตุเป็นจำนวนน้อย ลักษณะแข็งก็ปรากฏไม่มาก เมื่อสัมผัสรู้สึกว่าเป็นลักษณะอ่อน หมายความว่า ความแข็งนั้นมีน้อยนั่นเอง จึงทำให้รู้สึกอ่อน ฉะนั้น ธรรมชาติที่มีลักษณะแข็งก็ตาม อ่อนก็ตาม ในเมื่อสัมผัสแล้ว จัดเป็นปถวีธาตุทั้งสิ้น เพราะนอกนอกจากปถวีธาตุแล้ว รูปอื่น ๆ ไม่สามารถทำให้ความรู้สึกแข็งหรืออ่อนปรากฏขึ้นแก่การสัมผัสนั้นได้
2) ธาตุไฟ ( เตโชธาตุ) มีลักษณะร้อนและเย็น ลักษณะร้อนชื่อว่า อุณหเตโช ลักษณะเย็นชื่อว่า สีตเตโช แต่เตโชธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้มีสภาวลักษณะ คือ สภาพที่เป็นไอเป็นลักษณะ หมายความว่า อุณหเตโชก็มีไอร้อนเป็นลักษณะ สีตเตโชก็มีไอเย็นเป็นลักษณะ และเตโชธาตุทั้ง 2 ชนิดนี้ มีหน้าที่ทำให้วัตถุต่าง ๆ สุก และทำให้ละเอียดนุ่มนวล ดังจะแลเห็นได้ว่า วัตถุต่าง ๆ ส่วนมาก เช่น อาหาร เป็นทำให้สุกด้วยความร้อน แต่อาหารบางอย่างก็ทำให้สุกด้วยความเย็นได้เหมือนกัน
3) ธาตุน้ำ ( อาโปธาตุ ) มีลักษณะไหลหรือเกาะกลุ่ม อาโปธาตุนี้ ถ้ามีอยู่จำนวนน้อยก็ทำให้วัตถุสิ่งหนึ่งหรือสิ่งใดก็ตาม ย่อมทำให้วัตถุสิ่งนั้นเหลวและไหลไปได้ ถ้ามีจำนวนน้อยก็ทำให้วัตถุสิ่งของนั้น ๆ เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนเป็นกลุ่ม อุปมาเหมือนหนึ่งยางเหนียว ที่สามารถเชื่อวัตถุสิ่งของให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ฉันใด อาโปธาตุก็เป็นเสมือนหนึ่งยางเหนียวที่สามารถเชื่อปรมาณูปถวี ให้เกาะกุมกันเป็นรูปร่างสัณฐานขึ้นได้ฉันนั้น
4) ธาตุลม ( วาโยธาตุ ) ธาตุที่ทำให้เคลื่อนไหวเรียกว่า วิตถัมมภนวาโยๆ  ที่ทำให้รูปทีเกิดพร้อมกันกับตนตั้งมั่น ไม่ให้คลอนแคลนเคลื่อนไหวไปได้ ในร่างกายของคนเรา ถ้าวิตถัมมภนวาโย  ปรากฏแล้วผู้นั้นจะรู้สึกว่า ตึงเมื่อย ปวด ไปทั่วร่างกาย หรือเมื่อเวลาที่เราเกร็งข้อ แขน ขา และเพ่งตาอยู่นานๆ โดยไม่กระพริบตา เวลานั้นวิตถัมมภนวาโย  ก็ปรากฏโดยความพยายามของตนเอง  ธาตุที่มีลักษณะเคลื่อนไหวเรียกว่า สมีรณวาโยๆ นี้ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนเคลื่อนไหวไปมาได้ เช่น สัตว์ทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอิริยาบทต่างๆ ได้ หรือกระพริบตา กลอกตา กระดิกมือ กระดิกเท้า การถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย การคลอดบุตรต่างๆ เหล่านี้เป็นไปตามสมีรณวาโยทั้งสิ้น ( พระสัมธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ, 2556 : 73-74,76-77)

ปรัชญาจีน      
กระแสธารแห่งคติความคิดทางปรัชญาของจีนที่สำคัญสองสายคือ ปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช  โดยการสอนของเล่าจื๊อและขงจื๊อตามลำดับ  แต่ถึงแม้ว่าปรัชญาทั้งสองจะมีความสำคัญและมีปฐมกำเนิดก่อนปรัชญาอื่น แต่ปรัชญาทั้งสองก็หาเป็นตัวแทนของปรัชญาดั้งเดิมของปรัชญาจีนไม่ เพราะเราทราบว่าทั้งขงจื๊อ และเล่าจื๊อได้ศึกษาและนำเอาปรัชญาที่มีมาก่อนหน้าสมัยของเขามาใช้ในคำสอนของปรัชญาของตน
ในบรรดางานทางปรัชญาของสมัยโบราณที่สำคัญนั้น สิ่งที่ถือกันว่าเป็นบ่อเกิดของปรัชญาจีนนั้นคือ ความคิดเรื่อง ปา กว้า (Pa Kua) หรือโป้ยก่ายหรือเส้นตรงสามเส้นแปดชนิด (Eight Trigrams)  สันนิษฐานกันว่าคติความคิดเรื่อง ปา กว้า นี้ วิวัฒนาการขึ้นมาจากรอยแตกบนกระดองเต่า ซึ่งพระเจ้า ฝูซี (Fu His) ซึ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระองค์หนึ่ง ในสมัยปรัมปราเป็นผู้คิดขึ้น ปากว้าหรือเส้นตรง  3 เส้นรวมเป็นกลุ่มได้ 8 กลุ่ม เรียงกันเป็นวงกลมล้อมรูป หยิน-หยาง ซึ่งอยู่ตรงกลาง เส้น 3 เส้น แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เขียนเป็นเส้นติดกัน ไม่ขาดทั้ง 3 เส้น (ººº) แบบนี้เรียกว่า หยาง-เหยา ( Yang-yao) กับอีกแบบหนึ่งเขียนเป็นเส้นตรง แต่ขาดแยกจากกัน (º º) แบบนี้เรียกว่า หยิน-เหยา ( Yin-yao) ความจริงการเขียนเส้น ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความคิดเท่านั้น กล่าวคือ เส้นทั้ง 8 กลุ่ม แต่ละกลุ่มแทนธาตุทั้ง 8 ตามความเชื่อคนจีนโบราณ ธาตุทั้ง 8 ก็มี ดิน น้ำ ลม ไฟ สวรรค์หรือฟ้า ฟ้าร้องหรือสายฟ้า ภูเขา และหนองบึง ตัวอย่างเช่น ººº แทนฟ้า º ºแทนดิน แทนน้ำ ------- แทนลม ºº แทนไฟ เป็นต้น และธาตุทั้ง 8 นี้อาจย่อลงเหลือ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และจากธาตุ 4 ย่อลงเหลือ หยิน ( Yin) กับหยาง(yang ) หยินกับหยางจึงเป็นเรื่องมูลฐานของปรัชญาจีน

หยินหยางและธาตุทั้ง 5
คำว่า "ธาตทั้ง 5" ที่หมายถึง ธาตุน้ำ ไฟ ไม้ โลหะ ดิน ในลัทธิเต๋าและปรัชญาเต๋า แม้ว่าจะเคยถูกกล่าวถึงมาก่อนแล้วใน ตำนานจักรพรรดิ เหยา-ซุ่น-อวี่( , ; Yáo; 2356-2255 ก่อนคริสตกาล) ผจญมหาอุทกภัย เรื่องที่จักรพรรดิอวี่บุตรของกุง ได้รับแผนผังสำคัญ 9 ประเภท เป็นความรู้วิเศษจากจากซุ่น หนึ่งใน 9 ประเภทแผนผังนี้ อันดับแรกคือ ธาตุทั้ง 5. ทำให้อวี่จัดการเรื่องปัญหาน้ำท่วมสำเร็จ. ตำนานของเหยา ซุ่น อวี่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปกครองที่สมบูรณ์แบบและมีคุณธรรมอย่างสูง เป็นผู้เฉลียวฉลาดและเป็นแบบอย่างแก่จักรพรรดิราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนในเวลาต่อมา (ยุคสามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิ) ก่อนที่คำว่าหยินหยาง ธาตุทั้ง 5 จะถูกนำไปใช้อ้างอิงในสาขาวิชาอื่น ๆ ที่ลัทธิเต๋า ไม่ว่าการแพทย์ วิชาการต่อสู้ วิชาทำนายทายทัก ตรวจดวงชะตะ ฯลฯ ที่ประยุกต์เป็นหลายแขนงวิชาปรากฏอยู่ในยุคปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จีนมีบันทึกเกี่ยวกับทฤษฏีของสำนักหยินหยาง อ้างถึงนักปรัชญาสำนักหยินหยางคนหนึ่ง. โซวเหยี่ยน (鄒衍; Zou Yan ,ก่อนค.ศ.305 240 ) นักปรัชญาสำนักหยินหยางแห่งแคว้นฉี ในสมัยชุนชิว-สงครามแห่งรัฐ เป็นยุคแห่งศึกสงครามชิงดินแดน โซวเหยี่ยนจึงมีความคิดเห็นว่า กษัตริย์ปกครองแว่นแค้วนต่าง ๆ ประพฤติตนเหลวไหลตกต่ำลงมากขึ้นทุกทีต่างจากอดีตในยุคของจักรพรรดิผู้ทรงธรรมดังยุค สามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิ ความคิดของโซวเหยี่ยนก่อให้เกิดงานเขียนวิพากษ์สังคมได้ตำรา 2 เล่ม คือ "5 จริยธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ" (五德終始 ) และหนังสือ เรื่องเล่าเก้ามหานคร (大九州) ในหนังสือ "5 จริยธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ" (五德終始 ) มีอรรถขยายความที่มาของเรื่อง 5 ธาตุในตำราอี้จิงนั้น มาจากคุณค่า 5 จริยธรรม (五德) ตำรา อี้จิง《易經》 คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในคัมภีร์ 5 เล่มที่เรียบเรียงโดยขงจื้อ ที่มาจากอักษรกระดองเต๋า ว่าด้วย เป็นคัมภีร์หลักที่มีบันทึกเกี่ยวกับทฤษฎีหยินหยาง และองค์ประกอบ 3 อย่าง (三才) ของเอกภพคือ ฟ้า-มนุษย์- ดิน เกิดภาวะที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อนำเอามาตีความสภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง โซวเหยี่ยนให้ความ หมายว่าจริยธรรม () โดยเฝ้าสังเกตุพฤติกรรมของจริยธรรมในสังคมมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ในบทบาทแตกต่างกัน จึงแทนค่าบทบาทเหล่านั้นธาตุ (五行) ทั้ง 5 (五行) น้ำ ไฟ ไม้ โลหะ ดิน เป็นสัญลักษณ์ของจริยธรรม ที่เปลี่ยนแปลงได้ในด้านมากขึ้นน้อยลง มีผลดีหรือผลเสีย แม้กระทั่งไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ภาวะ และ อภาวะ เป็นพื้นฐานของทฤษฎีหยิน-หยาง.
1. น้ำ คือพลังอำนาจที่ทำให้เกิดความชุ่มชื่นและไหลลงล่างเป็นกระแส
2. ไฟ คือพลังอำนาจที่ทำให้เกิดความร้อนความอบอุ่นที่พวยพุ่งขึ้นบน
3. ไม้คือพลังอำนาจที่สามารถทำให้ตรงและดัดงอได้
4. โลหะคือพลังอำนาจที่สามารถดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้
5. ดินคือพลังอำนาจเป็นที่กำเนิดของพืชพันธ์

ในเวลาสมัยต่อมา มีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหยินหยางธาตุทั้ง 5 โดยอ้างถึง เนื้อความในตอนปลาย (เต๋อ) ของคัมภีร์เต๋าเต๋อ คัมภีร์เต๋าเต๋อ บทที่ 42. เต๋าให้กำเนิดหนึ่ง หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม สามให้กำเนิดสิ่งทั้งหลายทั้งปวง นับจำนวนหมื่นนับจำนวนแสน สิ่งทั้งหลายนับจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนนั้น มีหยินขี่หลัง มีหยางอยู่ในอ้อมอก และจากการที่หยินและหยางได้แผ่ซ่านไปทั่วนี้เอง จึงทำให้สิ่งทั้งหลายกลมกลืนกัน การเป็นคน "กำพร้า" "อยู่โดดเดี่ยว" และ "ไม่มีค่าอะไร"นั้น เป็นสิ่งที่คนทั้งหลายเกลียด แต่ก็ยังคงเป็นชื่อที่พระราชาและกุงทั้งหลาย ใช้เรียกตัวเองอยู่ เป็นความจริงที่สิ่งทั้งหลายอาจเพิ่มพูนขึ้น เมื่อทำให้ลดน้อยลงไป แต่จะลดน้อยลงไป ในเมื่อทำให้พอกพูนขึ้นมาก ข้าพเจ้าก็สอน อย่างที่คนอื่นๆ สอนนั่นแหละว่า "คนที่มีความทารุณโหดร้าย จะถึงจุดจบที่น่าสยดสยอง" ข้อนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นบิดาแห่งคำพูดทั้งปวง (แปลจากภาษาอังกฤษโดย อาจารย์จำนง ทองประเสริฐ,บ่อเกิดลัทธิประเพณี/Sources of Chinese Tradition/Wm.Theodore de Bary)

ความสำคัญของสัญลักษณ์ของเส้นตรงดังกล่าวนี้  ไม่ได้เป็นการกล่าวที่เกิดความเป็นจริงเลย ก่อนสมัยของขงจื๊อ มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์บันทึกเรื่องสัญลักษณ์นี้ไว้ คัมภีร์นี้มีชื่อว่า ยิ (Yi) ใช้สำหรับการพยากรณ์และอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ ตลอดทั้งความยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลายในกิจการต่างๆ ๆ ของมนุษย์ ต่อมาภายหลัง สานุศิษย์ของปรัชญาขงจื๊อและปรัชญาเต๋า ได้ใช้คัมภีร์ ยิ นี้ เป็นเครื่องมืออธิบายคติความคิดทางปรัชญาของตน คัมภีร์ ยิ จิง นี้ยังเป็นประดุจสะพานที่เชื่อมโยงคำสอนที่แตกต่างกันของปรัชญาเต๋า และปรัชญาขงจื๊อ

ปรัชญาเต๋า
            คำว่า "เต๋า" แปลว่า หนทาง วิธีการ กฎ จารีต หรือ ธรรมชาติ คำแปลของเต๋าในที่นี้เป็นการแปลตามหลักอักษรศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว สภาวะของเต๋าจริงๆ ไม่สามารถสื่อออกเป็นภาษาของมนุษย์ได้ เพราะสภาวะของเต๋าเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือระบบสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สำนวนโวหาร หรือระบบตรรกะ ระบบสัญลักษณ์ของมนุษย์มีข้อจำกัดและไม่เพียงพอต่อการอธิบายความหมายของสภาวะเต๋าได้ ดังนั้น เมื่อจะอธิบายความหมายของคำว่า "เต๋า" เหลาจื๊อจึงใช้ภาษาเชิงปฏิเสธเป็นส่วนมาก เหมือนกับพระพุทธเจ้าตรัสถึงภาวะของพระนิพพาน ก็จะใช้คำในเชิงปฏิเสธเช่นเดียวกัน ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ 1 ว่า
เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่บัญญัติเรียกร้องกันได้ก็มิใช่ชื่อแท้จริง
เต๋านั้นมิอาจอธิบายมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า เต๋า" ไปพลางๆ

คำว่า เต๋า" ที่เหลาจื๊อใช้ในที่นี้จึงเป็นเพียงชื่อที่สมมติขึ้นเพื่อใช้เรียกสภาวะธรรมชาติเท่านั้น ไม่ใช่ตัวธรรมชาติที่แท้จริง ไม่ควรไปยึดเอาสมมติว่าเป็นสัจจะ เพราะสมมติเป็นเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วตกลงรับรู้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร แต่มนุษย์ส่วนมากมักจะไปยึดติดกับระบบสัญลักษณ์ว่าเป็นสัจธรรม โดยลืมไปว่านั่นเป็นสิ่งที่ตัวเองสมมติขึ้นมา จึงทำให้เกิดการหยุดนิ่งในการที่จะแสวงหาสัจธรรมที่อยู่เบื้องหลังสมมตินั้น เหลาจื๊อได้กล่าวถึงสัจภาวะที่อยู่เหนือสมมติอีกตอนหนึ่งในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก็ง บทที่ 14 ว่า
เต๋าเป็นธรรมชาติที่มิอาจเห็นได้ด้วยการดู
จะเงี่ยหูฟัง ก็มิอาจได้ยิน
จะสัมผัส ก็กระทบมิได้
จะวิจัยอย่างไร ก็อับจน

จากข้อความที่ยกมาจะเห็นว่า ในทัศนะของเหลาจื๊อ เต๋าเป็นสัจภาวะที่ไม่อาจสัมผัสหรือเข้าถึงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งการคิดหาเหตุผลด้วยวิธีการของตรรกวิทยา ทั้งวิธีนิรนัย ( Deduction) และวิธีอุปนัย ( Induction) แต่จะเข้าถึงได้ด้วยจิต หรือ อัชฌัตติกญาณ ( Intuition)

เต๋าในฐานะเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง

ในทัศนะของเหลาจื๊อ ในจักรวาลนี้แม้จะมีสิ่งต่าง ๆ อยู่มากมาย แต่ในท่ามกลางความหลากหลายนั้น เมื่อสืบดูที่มาหรือแก่นแท้ของสิ่งเหล่านั้น ล้วนแต่มีกำเนิดมาจากเอกภาพอันเดียวกัน( Unity in Deversity) สภาวะอันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง เหล่าจื๊อยอมรับว่าไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี จึงสมมติเรียกว่า เต๋า” หรือ สิ่งยิ่งใหญ่" สภาวะนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น เป็นต้นกำเนิดหรือมารดาของสรรพสิ่ง นอกจากนั้น ยังมีอิทธิพลแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมสรรพสิ่งไว้ได้ทั้งหมด หมายความว่า ความเป็นไปของสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่มีกฎธรรมชาติหรือเต๋าควบคุมอยู่ ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋า เต็ก เก๋ง บทที่ ๒๔ ว่า
มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่โดยตัวของมันเอง มันมีอยู่ก่อนฟ้าดิน มันไม่มีรูปร่างลักษณะหรือสุ้มเสียงอย่างไรเลย ดำรงอยู่ทั่วสากลโดย ไม่รู้จักเกียจคร้านเหน็ดเหนื่อย กล่าวได้แต่เพียงว่า มันเป็นมารดาของสรรพสิ่ง
นอกจากนั้น ในบทเดียวกันนี้ เหลาจื๊อยังได้แบ่งโครงสร้างของจักรวาลออกเป็น ๔ ระดับด้วยกัน แต่ละระดับจะมีกฎควบคุมกันลดหลั่นกันไปตามลำดับ แต่ละระดับที่แบ่งออกนั้นเหลาจื๊อเรียกว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่" คือ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎของแผ่นดิน แผ่ดินอยู่ภายใต้กฎของฟ้า ฟ้าอยู่ภายใต้กฎของเต๋า และเต๋าอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เขียนออกมาเป็นแผนภาพได้ ดังนี้
เต๋า
ฟ้า
แผ่นดิน
พระมหากษัตริย์
บางครั้งเหลาจื๊อก็เปรียบสภาวะของเต๋าเหมือนน้ำ ที่มีความอ่อนตัวและสามารถจะแทรกซึมไปได้ทุกหนทุกแห่ง สิ่งต่างๆ ถูกน้ำหล่อเลี้ยงเอาไว้จึงดำรงอยู่ได้ เต๋าก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาวะที่แทรกสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง และหล่อเลี้ยงให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ได้ ดังที่เหลาจื๊อกล่าวไว้ในบทที่ ๓๔ ว่า
เต๋าเหมือนกระแสน้ำที่ไหลหลากไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งทางซ้ายและทางขวา สิ่งทั้งปวงกำเนิดมาจากเต๋า ได้รับการเลี้ยงดูจากเต๋า แต่มันไม่เคยทวงบุญคุณ จึงเรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อย ครั้นพิจารณา ในแง่ที่ว่าสรรพสิ่งกำเนิดมาจากเต๋า ก็เรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แท้   

บทสรุป
            1. ความคิดทางศาสนาเริ่มต้นด้วยการนับถือผีบรรพบุรุษก่อน แล้วพัฒนามาเป็นนับถือพระเจ้าองค์เดียวแล้วจึงเกิดมีศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า
2. ความคิดทางปรัชญาก็คล้ายกับศาสนา คือเริ่มแรกก็เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ มีวิญญาณ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นไปด้วยอำนาจของวิญญาณ
            ต่อมาจึงเชื่อว่า ธรรมชาติผู้-เมียเป็นตัวก่อให้เกิดโลก ต่อมาจึงมีความคิดเกี่ยวกับจิต (บุรุษ) ซึ่งเป็นตัวผู้ สสารหรือรูปธาตุ (ประกฤติ) ซึ่งถือว่าเป็นตัวเมีย
            ความคิดในลักษณะนี้เป็นปรากฏอยู่ในหลายชาติจึงน่าจะเป็นได้ว่า วิวัฒนาการทางปรัชญานั้นเองเกิดขึ้นในชาตินั้น ๆ โดยไม่ต้องอาศัยรับเอามาจากชาติอื่น

ปรัชญาของพวกไอโอนิก ธเลส  (624-547 BC)
 เหมือนกับปรัชญาพระเวทและอุปนิษัท จึงน่าได้รับความคิดนี้ไปจากอินเดียหรือนักคิดพวกนี้อาจจะไม่ใช่ชาวกรีกด้วยซ้ำไป
            -  ความคิดเรื่องการดูดของแม่เหล็กเหมือนกับความคิดของสางขยะ
            -  ความคิดเรื่องน้ำเป็นปฐมธาตุของสิ่งทั้งปวงก็มีปรากฏอยู่ในพระเวท
            -  ความคิดของอแมกซิเมเพสเรื่องอากาศหรืออีเธอร์เป็นปฐมธาตุของโลกก็มีปรากฏอยู่ในอุปนิษัทและเวทานตะ
            -  นักคิดในสำนักนี้เชื่อว่ามีวิญญาณหรือเชื่อชีวิตอยู่ในธาตุต่าง ๆ ทั้งสิ้น ความคิดนี้ก็คล้ายกับเรื่องบุรุษมีอยู่ในสิ่งทั้งปวงนั่นเอง

ความคิดของเฮราไคลตุส (544-484 ก่อน ค.ศ.)
ก็คล้าย ๆ กับพุทธปรัชญาคือพูดถึงความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นความจริงของจักรวาล และถือว่าไฟเป็นธาตุดั้งเดิม  ในอรรถกถาของพระพุทธศาสนาก็มีกล่าวถึงโลกว่าเริ่มต้นด้วยไฟและสลายไปด้วยไฟเช่นกัน  เฮราไคลตุสพูดถึงโลกว่าประกอบด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ซึ่งในพุทธศาสนาก็มีกล่าวถึงสิ่งตรงกันข้ามกันไว้มากมาย เช่น กุศล-อกุศล, อณหเตโช-สีตเตโช  เป็นต้น และความคิดเหล่านี้พุทธสาสนาได้สอนไว้ก่อนเฮราไคลตุสนมนานและเป็นคำสอนที่มีอยู่ในลัทธิเต๋าด้วย

บรรณานุกรม
พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ 1 2 6 จิต เจตสิก รูป นิพพาน
หลักสูตรจูฟัอภิธรรมมิกตรี ,(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์พิมพ์ลักษณ์ ), 2556.
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), ปรัชญากรีก-บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวัน(
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม ),2552.
ฟื้น  ดอกบัว, ปวงปรัชญาจีน  ( กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม ),2555.
ฟื้น  ดอกบัว, ปวงปรัชญาอินเดีย ( กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศยาม ),2555.
ปัญญา  ใช้บางยาง.  ธรรมาธิบายหลักธรรมในพระไตรปิฏก.  (กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา) 2555. 
สุนทร  ณ รังษี.  พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฏก. ( กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2543. 

อาจารย์จำนง ทองประเสริฐ,บ่อเกิดลัทธิประเพณี/Sources of Chinese Tradition/Wm.Theodore de Bary.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหลากหลายทางเพศในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท

การตีความตามหลักเทศนาหาระเรื่อง “ปัญญาในพุทธปรัชญา”